ติดอันดับ

กองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ทดสอบนิวเคลียร์ทั้งสามเหล่าทัพ

ติดอันดับ | Feb 24, 2020:

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

กองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ แสดงศักยภาพในปฏิบัติการที่มีการประสานงานจากทั่วโลก สร้างความมั่นใจให้แก่หุ้นส่วนและพันธมิตร พร้อมทั้งบรรลุภารกิจหลักในการป้องปรามเชิงยุทธศาสตร์ระดับโลก จากกิจกรรมเชิงปฏิบัติการต่อเนื่องและการทดสอบสามเหล่านิวเคลียร์ที่สิ้นสุดลง

กองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ได้ประสานงานกับหน่วยบัญชาการพลรบและกำลังรบต่าง ๆ ในหลายพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เพื่อฝึกซ้อมการใช้สามเหล่านิวเคลียร์ในแต่เหล่าทัพ ซึ่งได้แก่ เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล ขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป และขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำ

“การป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของเราจะรับประกันปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ทุกแห่งทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นแผนรับมือและรากฐานของการป้องกันประเทศของเรา” พล.ร.อ. ชาร์ลส์ ริชาร์ด ผู้บัญชาการกองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ กล่าว “การทดสอบและปฏิบัติการเหล่านี้เป็นการตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ความแม่นยำ และประสิทธิภาพของสามเหล่านิวเคลียร์ อีกทั้งทำให้มั่นใจว่าผมสามารถให้ตัวเลือกหลากหลายในการป้องปรามที่ยืดหยุ่นแก่ประธานาธิบดี”

กิจกรรมที่มีการประสานดังกล่าวดำเนินการไปเมื่อวันที่ 3 -12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 โดยมีการนำเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล บี-52 สตราโตฟอร์เทรส ของหน่วยทิ้งระเบิดเฉพาะกิจขึ้นบิน และการทดสอบปล่อยขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปและขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำแบบไม่ติดหัวรบนิวเคลียร์ (ภาพ: การปล่อยขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป มินิตแมน 3 ที่ไม่ติดหัวรบนิวเคลียร์ลูกหนึ่งในระหว่างการทดสอบเชิงพัฒนาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ที่ฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย)

“เจ้าหน้าที่ชายและหญิงเกือบ 150,000 รายจากหน่วยนิวเคลียร์ของกองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ดูแลและดำเนินการระบบยุทธศาสตร์ของอเมริกา โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้พร้อมที่จะตอบสนองอย่างทันท่วงทีตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน เจ็ดวันต่อสัปดาห์ 365 วันต่อปี” พล.ร.อ. ริชาร์ดกล่าว “การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวในกิจกรรมเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพที่มีเสมอมาและความพร้อมอันยืนยง”

กองทัพสหรัฐฯ ได้ดำเนินการบางส่วนร่วมกับกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น โดยความพยายามร่วมกันของทั้งสองให้น้ำหนักกับความสำคัญของพันธมิตรที่สำคัญ และความร่วมมืออย่างต่อเนื่องที่ส่งเสริมความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาคอินโดแปซิฟิกให้แข็งแรง

ทางอากาศ: ภารกิจเครื่องบินทิ้งระเบิด

เครื่องบินทิ้งระเบิด บี-52เอช สตราโตฟอร์เทรส ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ จากฐานทัพอากาศไมนอต์ รัฐนอร์ทดาโคตา มาสมทบกับเครื่องบิน บี-52เอช จากฐานทัพอากาศแอนเดอร์เซน เกาะกวม เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ในบริเวณใกล้กับฐานทัพอากาศมิซาวา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจหน่วยทิ้งระเบิดเฉพาะกิจร่วมและปฏิบัติการเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เครื่องบินทิ้งระเบิดทั้งสองลำดังกล่าวยังได้ทำการฝึกซ้อมร่วมแบบทวิภาคีกับเครื่องบิน เอฟ-2 จำนวน 13 ลำ เครื่องบิน เอฟ-4 จำนวน 4 ลำ เครื่องบิน เอฟ-15 จำนวน 28 ลำของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่น และเครื่องบิน เอฟ-16 จำนวน 6 ลำของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในบริเวณใกล้กับประเทศญี่ปุ่นก่อนที่จะเดินทางกลับฐานทัพแอนเดอร์เซน

กองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ได้ดำเนินภารกิจหน่วยทิ้งระเบิดเฉพาะกิจเป็นประจำมาตั้งแต่ พ.ศ. 2557 เพื่อรวมและประสานเข้ากับปฏิบัติการและขีดความสามารถของศูนย์บัญชาการการรบทางภูมิศาสตร์ และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการป้องปราม การรับประกัน และความมั่นคงของส่วนรวม ภารกิจเครื่องบินทิ้งระเบิดเชิงยุทธศาสตร์ช่วยเพิ่มความพร้อมและการฝึกอบรมที่จำเป็นในการตอบสนองต่อวิกฤตหรือความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นทั่วโลก

ทางบก: การทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป  

ทหารอากาศจากกองบินขีปนาวุธที่ 341 ประจำฐานทัพอากาศมาล์มสตรอม รัฐมอนแทนา กองบินขีปนาวุธที่ 90 ประจำฐานทัพเอฟอี วาร์เร็น รัฐไวโอมิง และกองบินขีปนาวุธที่ 91 ประจำฐานทัพอากาศไมนอต์ รัฐนอร์ทดาโคตา ของหน่วยบัญชาการเพื่อการโจมตีทั่วโลก กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ปล่อยขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป มินิตแมน 3 แบบไม่ติดหัวรบนิวเคลียร์ พร้อมกับการทดสอบยานพาหนะแบบกลับสู่ชั้นบรรยากาศในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ จากฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย

ยานพาหนะแบบกลับสู่ชั้นบรรยากาศของขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปเดินทางประมาณ 6,750 กิโลเมตรไปยังควาจาเลนอะทอลล์ในหมู่เกาะมาร์แชลล์ การดำเนินการทดสอบเชิงพัฒนาครั้งนี้ใช้ขีปนาวุธสำรองจากคลัง เพื่อตรวจสอบความคุ้มค่าในการขึ้นบินของกำลังรบใหม่หรือกำลังรบทดแทนในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับการปฏิบัติภารกิจมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

โครงการดำเนินการทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจของขีปนาวุธมินิตแมน 3 และความพร้อมของลูกเรือที่รับผิดชอบปฏิบัติการ การทดสอบเหล่านี้ยืนยันความสามารถของสหรัฐอเมริกาในการรักษาการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ที่มีความแข็งแกร่งและน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และความมั่นคงของหุ้นส่วนและพันธมิตรของสหรัฐฯ

ทางทะเล: การทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำ

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ทำการบินทดสอบขีปนาวุธไตรเดนท์ 2 ที่ไม่ติดหัวรบนิวเคลียร์จากเรือดำน้ำขีปนาวุธชั้นโอไฮโอ ยูเอสเอส เมน ในพื้นที่ทดสอบทางตะวันตกนอกชายฝั่งซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย

การทดสอบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการสาธิตและทดลองแล่นเรือภายใต้รหัส ดีเอเอสโอ-30 วัตถุประสงค์หลักของดีเอเอสโอคือการประเมินและแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของระบบอาวุธเชิงยุทธศาสตร์และลูกเรือของเรือดำน้ำก่อนที่จะมีการส่งกำลังไปปฏิบัติงานหลังจากแก้ไขการเติมเชื้อเพลิงทางวิศวกรรมของเรือดำน้ำ

ซึ่งส่วนทางทะเลคิดเป็นส่วนใหญ่ (ประมาณ 70%) ของการป้องปรามเชิงยุทธศาสตร์ด้วยนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำเป็นส่วนที่อยู่รอดได้มากที่สุดจากสามเหล่า โดยมีการแสดงตนถาวร และช่วยให้มีแนวคิดของปฏิบัติการที่ยืดหยุ่น

นอกเหนือจากการทดสอบความสามารถของเจ้าหน้าที่กองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ในการประสานงานและดำเนินปฏิบัติการแบบพร้อมกันกับหน่วยบัญชาการพลรบและพื้นที่ทางภูมิศาสตร์หลายแห่งแล้ว การสาธิตอาวุธสามเหล่าทัพยังได้พิสูจน์ถึงขีดความสามารถในการปฏิบัติงานของระบบอาวุธใหม่ล่าสุดของกองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ นั่นคือศูนย์บัญชาการและควบคุม พล.อ. เคอร์ทิส อี. เลอเมย์ ศูนย์บัญชาการและควบคุมขนาด 916,000 ตารางฟุต ซึ่งเริ่มใช้งานในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 แห่งนี้ ช่วยส่งเสริมความอยู่รอดและความน่าเชื่อถือในระยะยาวของกองกำลังป้องปรามทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ศูนย์บัญชาการและควบคุมแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของการบัญชาการนิวเคลียร์ของประเทศ และแสดงถึงก้าวแรกในการปรับปรุงองค์กรนิวเคลียร์ของกองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ให้ทันสมัย

จากการเยือนศูนย์บัญชาการและควบคุมเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายมาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของภารกิจของกองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ

“ลำดับความสำคัญสูงสุดของเราคือการทำให้แน่ใจว่าเรามีการป้องปรามเชิงยุทธศาสตร์ที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และน่าเชื่อถือ” นายเอสเปอร์กล่าว “ซึ่งนั่นหมายรวมถึงทุกส่วนของอาวุธสามเหล่า การบัญชาการนิวเคลียร์ การควบคุมและการสื่อสาร รวมทั้งการบัญชาการที่มีประสิทธิภาพอย่างมากภายใต้การนำของผู้บัญชาการที่มีประสิทธิภาพสูง”

การทดสอบนิวเคลียร์ขององค์กรที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ และความพยายามในการปรับองค์กรให้ทันสมัย เช่น ศูนย์บัญชาการและควบคุม แสดงให้เห็นว่าองค์กรเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ มีการเข้าถึงทั่วโลก โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจให้กับหุ้นส่วนและพันธมิตรของสหรัฐฯ รวมทั้งทำหน้าที่ย้ำเตือนให้ศัตรูรู้ถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการรักษาสันติภาพทั่วโลก

“การป้องปรามเชิงยุทธศาสตร์เป็นภารกิจเชิงรุก เราดำเนินปฏิบัติการทุกวันเพื่อให้แน่ใจว่าการป้องปรามมีความปลอดภัย มั่นคง และมีประสิทธิภาพ” พล.ร.อ. ริชาร์ดกล่าว “ปฏิบัติการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากองกำลังรบทั่วโลกของเรามีความพร้อมและสามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามทั่วโลกได้อย่างเด็ดขาด หากการป้องปรามล้มเหลว”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button