จีนใช้การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือในการสร้างอิทธิพลทั่วโลก

ร.อ. ไอแซค เซอร์น่า/กองพลบัญชาการยั่งยืนที่ 8 แห่งกองทัพสหรัฐฯ ทีมกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ
ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับทรัพยากรในพื้นที่สาธารณะของโลก ประเทศต่าง ๆ กำลังใช้วิธีการที่แยบยลในการแสดงอำนาจ จีนเป็นประเทศที่มีการใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า นิติสงคราม หรือการบิดเบือนกรอบกฎหมายและความรู้สึกของประชาชนเพื่อขับเคลื่อนวาระทางภูมิรัฐศาสตร์ของตน พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้นิติสงครามเฉพาะในพื้นที่สำคัญ เช่น สิทธิในการทำประมงและการควบคุมทางทะเล
กลยุทธ์ของรัฐบาลจีนไม่ได้มุ่งเน้นการปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงข้ออ้างทางอ้อมสำหรับการขยายอาณาเขตและการยึดครองทรัพยากร โดยใช้คำพูดที่ดูดีในสายตาคนทั่วไปว่าเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นี่ไม่ใช่การทูตที่ไร้พิษภัย แต่คือการบิดเบือนข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อทำลายอำนาจอธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้าน
นิติสงครามด้านสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลจีนมองว่านิติสงครามเป็นอาวุธที่ใช้โจมตี ซึ่งเป็นหนึ่งใน “สงครามสามรูปแบบ” ของพรรคที่ได้มีการตั้งกฎเกณฑ์ร่วมกับการครอบงำทางจิตวิทยาและการโฆษณาชวนเชื่อในสื่อ วัตถุประสงค์มีความชัดเจนคือ เพื่อสร้างเรื่องราว บิดเบือนความคิดเห็นทั่วโลก และบิดเบือนกรอบกฎหมายเพื่อให้ได้อำนาจทางการทหารและการเมืองที่เหนือกว่า นิติสงครามนั้นอันตรายเป็นพิเศษ เพราะใช้ประโยชน์จากความกังวลที่แท้จริงของประชาคมโลกเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของสิ่งแวดล้อม และซ่อนเจตนารุกล้ำไว้ภายใต้การดูแลที่รับผิดชอบ
คำถามต่อไปนี้ช่วยในการระบุการใช้นิติสงครามด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งได้แก่ จีนกำลังใช้ข้ออ้างด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรลุผลลัพธ์ที่เคยเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังทหารหรือการบังคับใช้กฎหมายนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ได้รับการรับรองในระดับสากลของตนเองหรือไม่ การอ้างสิทธิ์ที่เกินขอบเขตของรัฐบาลจีนจะทำให้การอ้างสิทธิของประเทศเพื่อนบ้านหรือคู่แข่งอ่อนแอลงหรือไม่ นักกฎหมาย โดยเฉพาะผู้ที่มุ่งมั่นที่จะรักษากฎหมายระหว่างประเทศ ต้องรับผิดชอบอย่างเร่งด่วนในการเปิดเผยและต่อต้านกลยุทธ์ที่หลอกลวงเหล่านี้
การเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่ได้รับการกระตุ้นจากความกังวลทางนิเวศวิทยาที่เพิ่มขึ้น ได้นำไปสู่ข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล และมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติฉบับที่ 77/118 ใน พ.ศ. 2565 เกี่ยวกับการประมงอย่างยั่งยืน อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลและมติ 77/118 ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและปกป้องระบบนิเวศที่ใช้ร่วมกัน
รัฐบาลจีนบิดเบือนการใช้สนธิสัญญาและมติเหล่านี้เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ของตนเอง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ใช้ประโยชน์จากความกังวลทั่วโลกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในการขยายเป้าหมายการครอบงำในระดับภูมิภาคและระดับโลก
การบีบบังคับด้านสิ่งแวดล้อมในทะเลจีนใต้
ไม่มีที่ใดที่การใช้นิติสงครามด้านสิ่งแวดล้อมของจีนชัดเจนมากไปกว่าทะเลจีนใต้ ซึ่งรัฐบาลจีนยืนกรานการอ้างสิทธิ์ในอาณาเขตที่ขยายออกไปโดยไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศรองรับ และในอาณาเขตที่ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรได้ปฏิเสธผ่านคำตัดสินใน พ.ศ. 2559 ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล แม้จะได้รับการประณามจากกฎหมายระหว่างประเทศที่ไม่เอื้อประโยชน์นี้ รัฐบาลจีนก็ยังคงใช้ข้ออ้างด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการอ้างสิทธิ์ที่ไม่ชอบธรรมของตน
เช่น การห้ามการประมงประจำปีของรัฐบาลจีนที่ได้กำหนดขึ้นอยู่ฝ่ายเดียวจากเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคมในทุกปีตั้งแต่ พ.ศ. 2542 การห้ามนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นมาตรการอนุรักษ์ที่ครอบคลุมทั่วทั้งทะเลจีนใต้และขยายเข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ชอบธรรมของประเทศอธิปไตยอย่างฟิลิปปินส์และเวียดนาม ซึ่งถือเป็นการละเมิดอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ทุกปี ประเทศหลายประเทศในทะเลจีนใต้ประท้วงการห้ามที่เกินขอบเขตนี้ แต่จีนกลับโต้ตอบด้วยการยืนกรานโดยไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการดูถูกและไม่เคารพการตัดสินทางกฎหมายระหว่างประเทศที่ไม่ตรงกับผลประโยชน์ของตน
ในทำนองเดียวกัน พรรคคอมมิวนิสต์จีนปกป้องโครงการก่อสร้างเกาะเทียมในพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทของหมู่เกาะสแปรตลีว่าเป็นความพยายามในการปกป้องสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจีนถึงขั้นอ้างว่าเกาะเทียมและโครงสร้างที่เกี่ยวข้องช่วยสนับสนุนการจราจรทางการเดินเรือระหว่างประเทศในพื้นที่ ทว่าการก่อสร้างเกาะเทียมและโครงสร้างทางทหาร เช่น ลานบิน ได้ก่อให้เกิดความเสียหายทางนิเวศวิทยาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ รวมถึงทำลายแนวปะการังและระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญ นี่ไม่ใช่การดูแลสิ่งแวดล้อม แต่เป็นการสร้างความเสียหายทางนิเวศที่คำนวณไว้อย่างรอบคอบเพื่อสร้างฐานทัพทางทหารและสนับสนุนการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่เกินขอบเขตของรัฐบาลจีน
บทบาทผู้ดูแลทรัพยากรของจีน ซึ่งแสร้งทำเป็นโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น แท้จริงคือความพยายามในการแสดงอำนาจและควบคุมดินแดน โดยการจับกุมชาวประมงต่างชาติ การกำหนดการห้ามประมงที่ไม่เป็นธรรม และการส่งกองกำลังรักษาชายฝั่งของจีนภายใต้ข้ออ้างของการอนุรักษ์ทะเล พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงสามารถยืนยันการควบคุมที่เป็นจริงและกลไกการบังคับใช้ในพื้นที่ที่มีข้อพิพาทได้อย่างเป็นระบบ กลยุทธ์อำนาจอ่อนนี้ช่วยให้รัฐบาลจีนสามารถเสริมสร้างการอ้างสิทธิ์ที่เกินขอบเขตโดยไม่ต้องมีการปะทะทางทหารอย่างเปิดเผย และใช้ประโยชน์จากข้อตกลงระหว่างประเทศด้านความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อขับเคลื่อนวาระของตน
ฟิลิปปินส์และเวียดนามได้คัดค้านกลยุทธ์ของจีน ในขณะที่มาเลเซียและอินโดนีเซียได้เพิ่มบทบาทของกองทัพเรือในการตอบสนองต่อการรุกรานและการใช้นิติสงครามด้านสิ่งแวดล้อมของจีน ประเทศเหล่านี้มองว่าการใช้ข้ออ้างทางนิเวศของรัฐบาลจีนเป็นการปกปิดการยึดครองดินแดน จึงได้เรียกร้องให้มีการบังคับใช้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลอย่างเข้มงวดมากขึ้นและการร่วมมือกันในระดับภูมิภาคผ่านองค์กรต่าง ๆ เช่น สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ทว่าอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารของจีนในภูมิภาคทำให้ประเด็นนี้เป็นเรื่องท้าทายสำหรับประเทศเล็ก ๆ

ภาพจาก: จ.อ. จัสติน อัปชอว์/กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ
ความเป็นสองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม
จีนบริโภคปลา 60,541 ตันใน พ.ศ. 2565 ซึ่งมากกว่าประเทศที่บริโภคสูงสุดอันดับสองถึงสี่เท่า กองเรือประมงสากลของจีนซึ่งเป็นกองเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากจากการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม กองเรือนี้ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลจีนและได้ทำให้ประชากรปลาทั่วโลกลดลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในน่านน้ำของประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งขาดแคลนทรัพยากรในการบังคับใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษและพรมแดนทางทะเล เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเรือของจีนใช้วิธีการทำลายล้างเช่น อวนลากพื้นทะเล ซึ่งจับสัตว์ทะเลทั้งหมดที่อยู่ในเส้นทางและทำลายระบบนิเวศที่เปราะบาง การทำลายทรัพยากรเช่นนี้ขัดกันอย่างสิ้นเชิงกับคำมั่นสัญญาของจีนในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการปกครองทางทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นสองมาตรฐานที่น่ากังวล แม้ว่าจีนจะเข้าร่วมในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เช่น ข้อตกลงว่าด้วยมาตรการของรัฐเจ้าของท่าเพื่อป้องกันการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม แต่ระดับของกิจกรรมที่เป็นอันตรายและการไม่รายงานการจับปลาของจีนแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งอย่างมากระหว่างนโยบายที่ประกาศกับการปฏิบัติจริง สิ่งนี้ไม่เพียงทำลายความพยายามในการอนุรักษ์ของโลก แต่ยังทำให้ชุมชนชายฝั่งขาดแคลนแหล่งอาหารสำคัญและอาชีพทางเศรษฐกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่ไม่ยั่งยืนและไม่เป็นธรรมของการประมงทั่วโลกของจีน
การต่อต้านนิติสงครามเป็นสิ่งจำเป็น
การใช้ประโยชน์จากการดูแลสิ่งแวดล้อมของจีนไม่ใช่การกระทำของการเป็นพลเมืองโลกที่มีเมตตา แต่เป็นรูปแบบของนิติสงครามที่คาดไว้แล้วและเป็นอันตราย ซึ่งออกแบบมาเพื่อขยายอาณาเขตของตนและใช้วิธีสร้างอิทธิพลทั่วโลก รัฐบาลจีนใช้การบิดเบือนกฎหมายระหว่างประเทศ ละเมิดอธิปไตยของชาติ และคุกคามความมั่นคงของโลก โดยการใช้ประโยชน์จากความกังวลในระดับสากลเกี่ยวกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็มีส่วนร่วมในกิจกรรมการถมที่ดินและการประมงที่ร้ายแรงที่สุดในโลก นักกฎหมาย นักนโยบาย และชุมชนระหว่างประเทศต้องรวมตัวกันเพื่อเปิดเผยและต่อต้านกลวิธีหลอกลวงและนิติฎหมายสงครามด้านสิ่งแวดล้อม หากไม่ทำเช่นนั้น จะช่วยให้รัฐบาลจีนสามารถทำลายระบบกฎหมายระหว่างประเทศและบังคับใช้ระเบียบโลกในแบบที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของตนเอง
กองบัญชาการสนับสนุนพื้นที่ปฏิบัติการที่ 8 ของกองทัพบกสหรัฐฯ อยู่ในเมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย