เยอรมนีและฟิลิปปินส์ลงนามในข้อตกลงด้านกลาโหม

รอยเตอร์
เยอรมนีและฟิลิปปินส์จะเสริมความสัมพันธ์ด้านกลาโหมและเพิ่มกิจกรรมร่วมกัน อีกทั้งรัฐบาลฟิลิปปินส์จะเสริมสร้างพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อเสริมจุดยืนของตนในการจัดการข้อพิพาทระยะยาวกับจีนในทะเลจีนใต้
นายกิลแบร์โต เตโอโดโร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ และนายบอริส พิสโตริอุส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเยอรมนี ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมที่กรุงเบอร์ลินในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2568 โดยเห็นพ้องกันที่จะขยายความร่วมมือที่ครอบคลุมด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ อาวุธยุทโธปกรณ์ และโลจิสติกส์ รวมถึงการรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ตามประกาศของกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์
ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นหลังการประชุมของผู้นำทั้งสองประเทศที่กรุงมะนิลาใน พ.ศ. 2567 ซึ่งได้ให้คำมั่นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างกองทัพของทั้งสองฝ่าย
ข้อตกลงความร่วมมือนี้เพิ่มเข้ามาในรายการข้อตกลงด้านกลาโหมที่ฟิลิปปินส์ลงนามร่วมกับประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากพันธมิตรระยะยาวอย่างสหรัฐอเมริกา ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2568 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้เห็นพ้องในการขยายความร่วมมือทางทหารกับนิวซีแลนด์ และคาดว่าจะลงนามข้อตกลงในลักษณะเดียวกันกับแคนาดาในเร็ว ๆ นี้
ข้อตกลงการเข้าถึงแบบทวิภาคีกับญี่ปุ่นได้รับการรับรองในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 และนายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ได้อนุมัติการเจรจากับฝรั่งเศสเพื่อจัดทำข้อตกลงการเยือนกองกำลังในลักษณะเดียวกัน
รัฐบาลจีนอ้างสิทธิ์ในพื้นที่เกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ ทั้งที่มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนจากบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
ใน พ.ศ. 2559 ศาลระหว่างประเทศได้ตัดสินว่าการอ้างสิทธิ์ของจีนไม่อยู่บนพื้นฐานทางกฎหมาย แต่จีนยังคงเพิกเฉยต่อคำตัดสินดังกล่าว
นายพิสโตริอุสกล่าวว่า “คำตัดสินนั้นยังคงมีผลบังคับใช้โดยไม่มีข้อยกเว้น” ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 เรือกองทัพเรือเยอรมนีสองลำเดินทางผ่านภูมิภาคอินโดแปซิฟิก รวมถึงจอดเทียบท่าที่กรุงมะนิลา เพื่อแสดงความมุ่งมั่นของรัฐบาลเยอรมนีต่อเสรีภาพในการเดินเรือ