อุตสาหกรรมกลาโหมของญี่ปุ่นขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ท่ามกลางความตึงเครียดในภูมิภาค

ฟีลิกซ์ คิม
ญี่ปุ่นกำลังเร่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมกลาโหมของตน ภายใต้แรงขับเคลื่อนจากงบประมาณภาครัฐที่สูงเป็นประวัติการณ์ ความร่วมมือที่เพิ่มขึ้น และแรงกดดันเชิงยุทธศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก หลังจากที่พึ่งพาการนำเข้ามายาวนาน รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังลงทุนอย่างจริงจังในการเสริมสร้างขีดความสามารถภายในประเทศ ขณะเดียวกันก็ขยายบทบาทด้านกลาโหมกับนานาชาติ
งบกลาโหม พ.ศ. 2568 ของญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ที่ราว 2.04 ล้านล้านบาท (ประมาณ 6.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ถือเป็นงบประมาณที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์หลังสงครามของญี่ปุ่น และเป็นสัญญาณของยุคใหม่ในการเตรียมความพร้อมและการพลิกฟื้นอุตสาหกรรม แผนงบประมาณดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนเพิ่มขีดความสามารถด้านกลาโหมระยะเวลา 5 ปีที่เริ่มต้นใน พ.ศ. 2565 โดยให้การสนับสนุนโครงการริเริ่มต่าง ๆ รวมถึงการจัดซื้อขีปนาวุธโทมาฮอว์กจากสหรัฐอเมริกา และการต่อเรือพิฆาตอเนกประสงค์
หัวใจสำคัญของการปรับเปลี่ยนครั้งนี้คือการผลักดันให้อุตสาหกรรมภายในประเทศมีบทบาทในการเพิ่มขีดความสามารถการผลิต รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบูรณาการเทคโนโลยีสองทาง การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมล่าสุด และการประสานความร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วน
วิดีโอจาก: จ.อ. ไทเลอร์ แอนดรูส์/นาวิกโยธินสหรัฐฯ
“ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเร่งการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านงบประมาณและการผลิตด้านกลาโหม พร้อมทั้งปรับทิศทางไปสู่การส่งออกยุทโธปกรณ์ในเชิงรุกมากขึ้น” นายสตีเฟน นากี อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยคริสเตียนนานาชาติของญี่ปุ่น กล่าวกับ ฟอรัม
บริษัทชั้นนำหลายแห่งกำลังปรับยุทธศาสตร์ของตนให้สอดคล้องกับโครงการริเริ่มต่าง ๆ เช่น ระบบอัตโนมัติและขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเล นายนากีกล่าว
การกระทำเชิงก้าวร้าวและบีบบังคับของรัฐบาลจีน รวมถึงการคุกคามเพื่อเข้ายึดครองไต้หวันและการรุกล้ำดินแดนในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ได้ทวีความตึงเครียดในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
“เราจะเห็นญี่ปุ่นและอุตสาหกรรมที่เฉพาะเจาะจงเหล่านี้คิดหาวิธีรับมือกับปัญหาต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์ฉุกเฉินเหตุการณ์หนึ่งที่อาจเกิดขึ้นข้ามช่องแคบไต้หวัน หรือเหตุการณ์ฉุกเฉินหลายเหตุการณ์” นายนากีกล่าว
ยุทธศาสตร์ที่กำลังพัฒนาของญี่ปุ่นได้แสดงออกอย่างชัดเจนผ่านความร่วมมือล่าสุดกับบริษัทวิศวกรรม บีเอ็มที ของสหราชอาณาจักร ภายใต้สัญญาที่ได้รับจากสำนักงานจัดซื้อจัดหา เทคโนโลยี และโลจิสติกส์ของญี่ปุ่น บริษัทเจแปน มารีน ยูไนเต็ด และ บีเอ็มที จะร่วมกันพัฒนาเรือยกพลขึ้นบกความเร็วสูง เพื่อยกระดับความสามารถของญี่ปุ่นในการเคลื่อนพลทางการทหารและเคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์ข้ามไปยังเกาะต่าง ๆ ของประเทศ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะเจแปนไทมส์
“ญี่ปุ่นมีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างความสามารถในการส่งกำลังเสริมและปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถยึดเกาะคืนจากการครอบครองของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้” นายนากีกล่าว ความพร้อมดังกล่าวยังช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคด้วยการยกระดับการป้องปรามและการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ที่มีศักยภาพให้แก่หุ้นส่วน
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักรยังได้ร่วมมือกับอิตาลีในการพัฒนาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2578
ความร่วมมือระหว่างประเทศถือเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของยุทธศาสตร์ด้านกลาโหมของญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการเจรจากับออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เกี่ยวกับการส่งออกยุทโธปกรณ์และระบบย่อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การกระชับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตามรายงานของเว็บไซต์เบรกกิง ดีเฟนส์
“ญี่ปุ่นตระหนักถึงความสำคัญของการส่งออกยุทโธปกรณ์ด้านกลาโหมไปยังประเทศที่มีผลประโยชน์ของชาติร่วมกัน” นายนากีกล่าว
ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้