ความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อินโดนีเซียและมาเลเซียขยายความร่วมมือทางกลาโหม เพื่อรับมือกับภัยคุกคามข้ามชาติ

กัสดี ดา คอสตา

ท่ามกลางภัยคุกคามร่วมอย่างการก่อการร้าย การกระทำอันเป็นโจรสลัด และอาชญากรรมข้ามชาติ อินโดนีเซียและมาเลเซียได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือทางด้านกลาโหมในการประชุมระดับสูงของกองทัพเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2568 โดยทั้งสองประเทศพร้อมเดินหน้าประสานงานเชิงปฏิบัติการให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และร่วมกันเสริมสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค

การหารือระหว่างผู้บัญชาการระดับสูงของทั้งสองประเทศมีขึ้นก่อนการประชุมคณะกรรมการระดับสูงมาลินโด ครั้งที่ 18 ซึ่งทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซียคาดว่าจะร่วมกันผลักดันยุทธศาสตร์ร่วมเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงข้ามชาติ และจัดการปัญหาแนวชายแดนผ่านความร่วมมือด้านการทูตทางทหารอย่างต่อเนื่อง

“การเยือนครั้งนี้ตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยเฉพาะความร่วมมือทางด้านกลาโหม” พล.อ. อกัส ซูบียันโต ผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซีย กล่าวระหว่างการพบหารือกับ พล.อ. ดาตุก โมฮัมหมัด นิซาม จาฟฟาร์ ผู้บัญชาการกองทัพมาเลเซีย เมื่อกลางเดือนเมษายน ที่กองบัญชาการกองทัพอินโดนีเซีย ในกรุงจาการ์ตาตะวันออก

ในขณะเดียวกัน การประชุมคณะกรรมการระดับสูงมาลินโดมีจุดมุ่งหมายเพื่อ “เสริมสร้างความร่วมมือทางกลาโหมระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย ท่ามกลางสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงในภูมิภาคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น” นายไครุล ฟาห์มี ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันวิจัยด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์แห่งอินโดนีเซีย กล่าวกับ ฟอรัม นายฟาห์มีกล่าวว่า การประชุมซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2568 มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างการประสานงานตามแนวชายแดน ส่งเสริมการฝึกซ้อมร่วม และหารือในประเด็นสำคัญอื่น ๆ ร่วมกัน

ช่องแคบมะละกา ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทะเลที่สำคัญ และเป็นหนึ่งในเส้นทางการขนส่งทางเรือที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการค้าโลก ช่องแคบและน่านน้ำโดยรอบยังคงเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นโดยใช้อาวุธ แม้ว่าการลาดตระเวนร่วมของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์จะมีส่วนช่วยลดจำนวนเหตุการณ์ดังกล่าวลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทว่าในช่วงสามเดือนแรกของ พ.ศ. 2568 จำนวนเหตุการณ์กลับพุ่งสูงขึ้นถึง 36 ครั้ง เมื่อเทียบกับเพียง 11 ครั้งในช่วงเวลาเดียวกันของ พ.ศ. 2567

นายฟาห์มีกล่าวว่า รัฐบาลอินโดนีเซียและรัฐบาลมาเลเซียมีเป้าหมายที่จะปรับแนวทางด้านปฏิบัติการให้สอดคล้องกันทั้งในระดับนโยบายและระดับเทคนิค นายฟาห์มีเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างความสามารถในการทำงานร่วมกัน การแลกเปลี่ยนข่าวกรอง และการลาดตระเวนในพื้นที่อ่อนไหวระหว่างกองกำลัง เช่น ทะเลสุลาเวสี และแนวชายแดนร่วมระหว่างสองประเทศบนเกาะบอร์เนียว

ปัจจัยสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เช่น การขนส่งทั่วโลก กำลังส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทวิภาคีในเส้นทางเดินเรือที่เปราะบาง นางปุจิ อัสทูติ นักวิเคราะห์จากกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย กล่าวกับ ฟอรัม

แม้ว่ากองทัพเรืออินโดนีเซียจะมีขีดความสามารถสูง แต่ก็ต้องปฏิบัติการในพื้นที่ทางทะเลของประเทศที่กว้างกว่า 3.1 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งทำให้ความร่วมมือกับมาเลเซียมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในบริเวณช่องแคบมะละกา นางอัสทูติกล่าว

โครงการริเริ่ม เช่น การลาดตระเวนบริเวณช่องแคบมะละการะดับไตรภาคี “ได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในการรับมือกับการปล้นโดยใช้อาวุธทางทะเลและภัยคุกคามด้านสงคราม” นายบูดี ริยันโต อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากโรงเรียนประชาสัมพันธ์ลอนดอนในกรุงจาการ์ตา กล่าวกับ ฟอรัม

การเผชิญหน้ากับภัยคุกคามข้ามชาติ เช่น การก่อการร้าย การกระทำอันเป็นโจรสลัด การลักลอบขนของผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ “เป็นแรงผลักดันหลักที่ทำให้ความร่วมมือทวิภาคีเปลี่ยนจากแค่เชิงสัญลักษณ์ไปสู่การปฏิบัติจริง” โดยมีการลาดตระเวนร่วมและการแลกเปลี่ยนข่าวกรองที่กำลังพัฒนาไปสู่กลไกที่มีความเป็นระบบมากยิ่งขึ้น นายฟาห์มีกล่าว

กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

แสดงความคิดเห็นที่นี่

ความเป็นส่วนตัวของคุณเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา หากคุณเลือกที่จะระบุที่อยู่อีเมลของคุณ เจ้าหน้าที่ของ ฟอรัม จะใช้เพื่อติดต่อกับคุณเท่านั้น เราจะไม่เปิดเผยหรือเผยแพร่ที่อยู่อีเมลของคุณ เฉพาะชื่อและเว็บไซต์ของคุณเท่านั้นที่จะปรากฏในความคิดเห็นของคุณ ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button