อินเดียและญี่ปุ่นยกระดับความร่วมมือทางกลาโหมท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
อินเดียและญี่ปุ่นจะขยายความร่วมมือทางกลาโหม ซึ่งรวมถึงการเพิ่มขอบเขตการฝึกซ้อมและการฝึกอบรมร่วม เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ท่ามกลางภูมิทัศน์ของภูมิภาคที่กำลัง “ซับซ้อนและไม่แน่นอนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว”
นายราชนาถ ซิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินเดีย และ นายเก็น นากาทานิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น พบปะกันที่กรุงนิวเดลีในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2568 เพื่อหารือเกี่ยวกับ “ความสำคัญและความจำเป็นที่เพิ่มขึ้นของการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสองประเทศ” ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำถึงความสำคัญของ “การปกป้องเส้นทางคมนาคมทางทะเล เพื่อรักษาความปลอดภัยของเส้นทางทะเล ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งไม่เพียงแต่สำหรับญี่ปุ่นและอินเดียเท่านั้น แต่รวมถึงภูมิภาคและประชาคมระหว่างประเทศด้วย”
ประเทศสมาชิกการเจรจาความมั่นคงจตุภาคีหรือควอด ได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ต่างแสดงความกังวลต่อท่าทีที่แข็งกร้าวของจีนที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในภูมิภาคนี้ ในทะเลจีนตะวันออก เรือกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้รุกล้ำเข้าไปยังน่านน้ำรอบหมู่เกาะเซ็งกะกุที่ญี่ปุ่นบริหารอยู่ ขณะเดียวกัน ข้อพิพาททางดินแดนระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลอินเดียที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ได้นำไปสู่การปะทะกันอย่างรุนแรงตามแนวชายแดนร่วม
นายนากาทานิและนายซิงห์ได้หารือถึงความจำเป็นในการประสานการบูรณาการด้านกลาโหม และเห็นพ้องร่วมกันในการจัดตั้งกรอบความร่วมมือเพื่อประสานงานและบริหารจัดการภารกิจต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ผู้นำทั้งสองประเทศได้กล่าวถึงความสำเร็จของการฝึกซ้อมธรรมะการ์เดียนระหว่างกองทัพบกอินเดียและกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่น ซึ่งจัดขึ้นล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม พ.ศ. 2568 ณ พื้นที่ซ้อมรบฟูจิตะวันออกของกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่น

ภาพจาก: คัฟเวอร์อิมเมจผ่านทางรอยเตอร์
การฝึกซ้อมประจำปีครั้งที่หก ซึ่งจัดสลับกันระหว่างอินเดียและญี่ปุ่น ได้รวมถึงสงครามในเมืองและปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายไว้ด้วย “การฝึกซ้อมดังกล่าวมุ่งเน้นถึงความมุ่งมั่นร่วมกันของอินเดียและญี่ปุ่นในการส่งเสริมความมั่นคง สันติภาพ และเสถียรภาพในภูมิภาค ตลอดจนขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ร่วมในการสร้างภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง และไม่แบ่งแยก” กระทรวงกลาโหมอินเดียระบุ
ทั้งสองประเทศได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็นพันธมิตรพิเศษเชิงยุทธศาสตร์และระดับโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2557 และยังดำเนินความร่วมมือในโครงการริเริ่มด้านยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีทางกลาโหม ขณะที่ต่างฝ่ายต่างเสริมสร้างฐานการผลิตทางกลาโหมภายในประเทศของตน โครงการต่าง ๆ ประกอบด้วยการพัฒนายานยนต์ภาคพื้นดินไร้คนขับและระบบหุ่นยนต์ ตลอดจนแผนของญี่ปุ่นที่จะส่งมอบระบบเสาอากาศแบบพรางตัวสำหรับเรือรบให้แก่อินเดีย
“ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะยกระดับความร่วมมือทางอุตสาหกรรม รวมถึงการสำรวจความร่วมมือในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์” ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินเดีย “นอกจากนี้ รัฐมนตรีทั้งสองคนยังตัดสินใจที่จะขยายความร่วมมือในขอบเขตใหม่ ๆ เช่น ไซเบอร์และอวกาศ”
การประชุมนี้เกิดขึ้นสองสัปดาห์หลังจากที่ผู้ก่อการร้ายคร่าชีวิตผู้คนไป 26 รายที่รีสอร์ทท่องเที่ยวในแคชเมียร์ที่อินเดียบริหารอยู่ ซึ่งเป็นพื้นที่เทือกเขาหิมาลัยที่อินเดียและปากีสถานต่างอ้างสิทธิ์ นายนากาทานิได้แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งและแสดงการสนับสนุนที่ญี่ปุ่นมีต่ออินเดีย
“ทั้งสองฝ่ายได้ประณามการก่อการร้ายในทุกรูปแบบ และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการยกระดับความร่วมมือและความพยายามร่วมกันเพื่อต่อต้านภัยคุกคามข้ามพรมแดน” นายซิงห์ระบุในโพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์