ฟิลิปปินส์ประณามการอ้างสิทธิ์ในสันดอนแซนดี้เคย์ที่มากเกินไปของรัฐบาลจีน รวมถึงการบิดเบือนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
ฟิลิปปินส์ประณามกิจกรรมเชิงคุกคามในทะเลจีนใต้ครั้งล่าสุดของจีน ซึ่งรวมถึงการถือธงชาติจีนบนสันดอนแซนดี้เคย์ และการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับสันดอนทรายร้างสามแห่งที่ฟิลิปปินส์เรียกว่า ปาก-อซา เคย์ 2
“การยึดครองปาก-อซา เคย์ 2 ตามที่มีการกล่าวหา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของดินแดนฟิลิปปินส์ในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการบิดเบือนข้อมูลของรัฐบาลจีน ที่พยายามแสดงให้เห็นว่าจีนมีการควบคุมพื้นที่ดังกล่าวโดยการแสดงธงชาติจีนและดำเนินการเก็บขยะ” สภาการเดินเรือแห่งชาติของฟิลิปปินส์ระบุ
ในช่วงปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2568 เพียงหนึ่งวันหลังจากที่จีนได้ถือธงชาติของตนบนสันดอนดังกล่าว กองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์ได้เผยแพร่ภาพถ่ายของเจ้าหน้าที่ของตนที่กำลังถือธงชาติฟิลิปปินส์ เพื่อยืนยันอธิปไตยของฟิลิปปินส์ สันดอนทรายแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับฐานทัพทหารที่สำคัญของฟิลิปปินส์ในหมู่เกาะสแปรตลีที่มีข้อพิพาท
กองกำลังเฉพาะกิจแห่งชาติสำหรับทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตกระบุว่า ได้มีการดำเนินปฏิบัติการร่วมระหว่างกองกำลังรักษาชายฝั่ง กองทัพเรือ และตำรวจทางทะเล เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ “การปฏิบัติหน้าที่ตามปกติและชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์ในการดูแลและใช้อำนาจควบคุมพื้นที่ทางทะเลในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก” ซึ่งเป็นชื่อที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ใช้เรียกส่วนหนึ่งของทะเลจีนใต้ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของตน
ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ฟิลิปปินส์ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับสันดอนทรายดังกล่าว โดยกล่าวหาว่าอยู่ภายใต้การควบคุมของจีน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะมะนิลาไทมส์
“ฟิลิปปินส์ยังคงยึดมั่นในการปกป้องอาณาเขตทางทะเลอันกว้างขวางของตน และไม่หวั่นไหวต่อข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จ ซึ่งบ่อนทำลายการใช้อำนาจอธิปไตย สิทธิอธิปไตย และเขตอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายของประเทศ” สภาการเดินเรือแห่งชาติระบุ
ก่อนจะปักธง จีนได้เผยแพร่รายงานที่ดูเหมือนน่าเชื่อถือแต่แฝงไปด้วยการบิดเบือน ซึ่งกล่าวโทษรัฐบาลฟิลิปปินส์ว่าเป็นต้นเหตุในการทำลายแนวปะการังที่สันดอนแซนดี้เคย์
สภาการเดินเรือแห่งชาติได้กล่าวหาว่าจีนทำลายสิ่งแวดล้อมรอบเกาะปาก-อซาและสันดอนบริเวณนั้น สภาการเดินเรือแห่งชาติยืนยันว่า การที่เรือจีนจำนวนมากแสดงตนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงการสร้างเกาะเทียมขนาดใหญ่ของจีนบนแนวปะการังซูบี ซึ่งฟิลิปปินส์เรียกว่าแนวปะการังซาโมรา เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ตามรายงานของสำนักข่าวฟิลิปปินส์
“ฟิลิปปินส์จะยังคงยึดหลักการแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี และแนวทางการจัดการความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ พร้อมทั้งดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตกอย่างถูกต้องตามกฎหมายและเป็นไปตามปกติ ซึ่งสอดคล้องตามสิทธิทางทะเลที่ประเทศพึงมีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ” สภาการเดินเรือแห่งชาติระบุ
แม้จะมีคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศใน พ.ศ. 2559 ที่ปฏิเสธข้อโต้แย้งของรัฐบาลจีน และตัดสินให้ฟิลิปปินส์ชนะคดี ซึ่งยื่นคำร้องภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ทว่าจีนยังคงอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ที่อุดมไปด้วยทรัพยากร ซึ่งรวมถึงหมู่เกาะสแปรตลีและสันดอนแซนดี้เคย์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนามต่างก็อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้บางส่วน ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าระดับโลกที่สำคัญแห่งนี้เช่นกัน
สันดอนแซนดี้เคย์ตั้งอยู่ใกล้กับเกาะธิตู ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ในหมู่เกาะสแปรตลีและมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์เป็นอย่างมาก
“หากจีนสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางทหารบางอย่างบนพื้นที่นั้น ก็จะสามารถติดตามและสังเกตการณ์กิจกรรมต่าง ๆ บนเกาะฟิลิปปินส์ที่อยู่ข้างเคียงได้อย่างใกล้ชิด” นายอับดุล ราห์มาน จาคอบ นักวิจัยในโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สถาบันโลวีซึ่งตั้งอยู่ในออสเตรเลีย กล่าวกับเว็บไซต์ข่าว ซีเอ็นเอ
ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล สันดอนแซนดี้เคย์จัดเป็นโขดหินที่จมอยู่ใต้น้ำอย่างถาวร และด้วยเหตุนี้จึงมีสิทธิในทะเลอาณาเขตจากชายฝั่งเป็นระยะทาง 12 ไมล์ทะเล นักวิจัยระบุ อีกทั้ง สันดอนแซนดี้เคย์ตั้งอยู่ห่างจากเกาะปาก-อซา ซึ่งเป็นเกาะหลักของเทศบาลเมืองคาลายาอัน จังหวัดปาลาวัน ของฟิลิปปินส์ เพียงราว 2 ไมล์ทะเล จึงถือว่าอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์
จีนได้เผยแพร่ภาพวิดีโอการปักธงชาติจีน ซึ่งแสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ 4 นาย สวมชุดปฏิบัติการสีดำ ขณะถือธงชาติหลังเดินทางมาถึงด้วยเรือบดเล็ก
นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2533 – 2542) รัฐบาลจีนมักอาศัยชาวประมงจีน กองกำลังพลเรือนติดอาวุธทางทะเล และกลุ่มพลเรือนต่าง ๆ ในการปักธงบนแนวปะการัง โขดหิน และเกาะที่มีข้อพิพาทในทะเล
นักวิเคราะห์ระบุว่า การกระทำของรัฐบาลจีน ซึ่งจุดชนวนความตึงเครียดขึ้นอีกครั้งบริเวณสันดอนแซนดี้เคย์ เป็นความพยายามรักษาภาพลักษณ์ต่อสาธารณชนภายในประเทศ ท่ามกลางแรงกดดันจากภายนอกที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายจาคอบกล่าวว่า การแสดงท่าทีก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อย ๆ ของจีนในทะเลจีนใต้อาจได้รับการวางแผนให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการฝึกซ้อมทางทหารพหุภาคี บาลิกาตัน ซึ่งจัดโดยฟิลิปปินส์และสหรัฐอเมริกา รวมถึงใกล้กับช่วงการเลือกตั้งกลางสมัยในฟิลิปปินส์
“นี่ถือเป็นสัญญาณเตือนจากจีนต่อฟิลิปปินส์ ไม่ให้เดินหน้าพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ ไปมากกว่านี้” นายจาคอบกล่าวกับซีเอ็นเอ “ข้อความนี้เป็นการส่งสัญญาณว่า นี่คือสิ่งที่เราสามารถกระทำได้เพื่อตอบโต้ความท้าทายของคุณ”
นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า รายงานสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลจีนเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2568 เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่มุ่งควบคุมพื้นที่ทะเลจีนใต้ให้มากขึ้น
การถมเกาะเทียมของจีนในอดีตได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อถิ่นที่อยู่อาศัยทางทะเลในทะเลจีนใต้ถึงประมาณสองในสาม ตามรายงานของโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชีย นับตั้งแต่ พ.ศ. 2556 จีนได้ดำเนินการขุดลอกและถมทะเลเพื่อสร้างเกาะเทียมดังกล่าว ซึ่งได้ถมแนวปะการังเป็นพื้นที่มากกว่า 4,600 เอเคอร์ (ประมาณ 19 ตารางกิโลเมตร) ตามรายงานของโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชียในเดือนมกราคม พ.ศ. 2568
รายงานดังกล่าวระบุว่า กิจกรรมเหล่านี้ “ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถแก้ไขได้และส่งผลกระทบระยะยาวต่อโครงสร้างและสุขภาพโดยรวมของแนวปะการัง”
กิจกรรมล่าสุดของจีนที่สันดอนแซนดี้เคย์มีแนวโน้มที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการขยายการมีอยู่ของจีนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามรายงานของนายดอน แม็คเลน กิลล์ นักวิเคราะห์และอาจารย์ประจำภาคนานาชาติศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเดอลาซาลในกรุงมะนิลา
กิจกรรมเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทาง “การรุกคืบทีละน้อย” ของจีนเพื่อขยายอำนาจการอ้างสิทธิ์ทางทะเล นายกิลล์เขียนให้กับนิตยสาร ธิงค์ไชน่าของสิงคโปร์ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2568
ตัวอย่างเช่น จีนได้อ้างว่าการก่อสร้างเกาะเทียมของตนบนแนวปะการังต่าง ๆ เช่น แนวปะการังเฟียรีครอสในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2557 นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้ประโยชน์ทางพลเรือน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้ดำเนินการก่อสร้างทางทหาร เช่น ลานบิน เครื่องตรวจจับเรดาร์ และแท่นยิงขีปนาวุธ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้ใช้ทั้งกองกำลังรักษาชายฝั่งและกองกำลังพลเรือนติดอาวุธทางทะเลในการยืนยันการอ้างสิทธิ์ที่มากเกินไปของตนในทะเลจีนใต้
ตัวอย่างเช่น ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2568 เรือกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้ขัดขวางภารกิจทางวิทยาศาสตร์ของฟิลิปปินส์ที่กำลังดำเนินการในสันดอนแซนดี้เคย์ กิจกรรมเหล่านี้อาจเกิดจากการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนตระหนักว่า “ผู้ที่ครอบครองพื้นที่ดังกล่าวสามารถอ้างสิทธิ์ในเขตอำนาจเหนือสันดอนซูบี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จมลงใต้น้ำในช่วงน้ำขึ้นสูง โดยจีนได้สร้างฐานทัพขนาดใหญ่บนพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิ์ รวมถึงลานบินและท่าเรือ” นายอวน เกรแฮม นักวิเคราะห์อาวุโสที่สถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของออสเตรเลีย เขียนระบุในบทความของสถาบันวิจัย เดอะ สเตรทิจิสต์
อีกทั้งเรือจีนยังได้พุ่งชนและยิงปืนฉีดน้ำแรงดันสูงใส่เรือฟิลิปปินส์
ในการโต้ตอบการรุกรานของจีนและปกป้องการอ้างสิทธิ์ในอาณาเขตของตน ฟิลิปปินส์ต้องรักษาการแสดงตนในเส้นทางน้ำทางยุทธศาสตร์นี้ รวมถึงการลาดตระเวนเป็นประจำร่วมกับหุ้นส่วนด้านกลาโหม นายกิลล์เขียนระบุ