ผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ

The Associated Press
นางอึนจู คิม ผู้หลบหนีจากความอดอยากในเกาหลีเหนือเมื่อ พ.ศ. 2542 และเคยได้รับการส่งตัวกลับจากจีนก่อนจะหลบหนีได้อีกครั้ง ได้กล่าวต่อองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ว่า ผู้นำของเกาหลีเหนือต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง
นางกยูริ คัง ซึ่งครอบครัวเคยเผชิญการข่มเหงเนื่องจากความเชื่อทางศาสนาของย่าของตน ได้หลบหนีออกจากเกาหลีเหนือในช่วงภาวะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 นางคังกล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติว่า เพื่อนของเธอสามคนถูกประหารชีวิต โดยสองคนในจำนวนนี้ได้รับโทษเพียงเพราะรับชมละครโทรทัศน์ของเกาหลีใต้
ในการประชุมระดับสูงของสมาชิกทั้ง 193 คนจากทั่วโลก เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ผู้หญิงทั้งสองคน ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้ ได้ถ่ายทอดความทุกข์ยากของประชาชนชาวเกาหลีเหนือ โดยนางเอลิซาเบธ ซัลมอน พนักงานสืบสวนพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ชาวเกาหลีเหนือต้องใช้ชีวิตภายใต้ภาวะ “ความโดดเดี่ยวอย่างสิ้นเชิง” นับตั้งแต่การระบาดใหญ่ที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้น พ.ศ. 2563
ชาวเกาหลีเหนือหลายพันคนได้หลบหนีออกนอกประเทศตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2533 – 2542) ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลับมีจำนวนลดลงอย่างมาก
นางซัลมอนกล่าวว่า การปิดพรมแดนของเกาหลีเหนือทำให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเลวร้ายอยู่แล้ว ยิ่งย่ำแย่ลง โดยมีการออกกฎหมายใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 และเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น เช่น การประหารชีวิต และการประหารต่อหน้าสาธารณชน
การส่งกำลังทหารเกาหลีเหนือไปสนับสนุนรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครน ยิ่งทวีความกังวลเกี่ยวกับ “สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอันย่ำแย่ของเหล่าทหารขณะปฏิบัติหน้าที่ และการที่รัฐบาลแสวงหาประโยชน์จากประชาชนของตนอย่างกว้างขวาง” นางซัลมอนกล่าว
นางซัลมอนกล่าวว่า การที่เกาหลีเหนือใช้ระบบทหารอย่างสุดโต่ง ไม่เพียงแต่เอื้อให้รัฐสามารถควบคุมประชาชนได้ตลอดเวลา หากแต่ยังเป็นการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานผ่านระบบที่รัฐควบคุม ซึ่งได้นำไปใช้สนับสนุนด้านเงินทุนของโครงการนิวเคลียร์และกิจกรรมทางทหารที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
นายคิม ซง เอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือ ประจำยูเอ็น ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม อดีตผู้ลี้ภัยทั้งสองคน ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมากที่เกิดขึ้น
นางคิม ซึ่งเปิดเผยว่าบิดาของตนเสียชีวิตจากความอดอยาก ได้ให้การต่อคณะทูตของยูเอ็นว่า หลังจากที่ตนเอง มารดา และน้องสาวสามารถข้ามแม่น้ำตูเมนไปถึงจีนได้ในครั้งแรก ทั้งสามคนกลับถูกขายให้ชายชาวจีนในราคาไม่ถึง 9,800 บาท (ประมาณ 300 ดอลลาร์สหรัฐ) สามปีต่อมา ทั้งสามคนถูกจับกุมและส่งตัวกลับไปยังเกาหลีเหนือ ใน พ.ศ. 2545 พวกเธอหลบหนีอีกครั้ง โดยใช้เส้นทางข้ามแม่น้ำเช่นเดิม
นางคัง ซึ่งต้องไปอยู่ในชนบทตั้งแต่อายุเพียง 5 ขวบ เนื่องจากความเชื่อทางศาสนาของย่าของตน ได้เปิดเผยว่า ตนเองได้หลบหนีออกมาพร้อมกับมารดาและป้า โดยใช้เรือประมงไม้ยาว 10 เมตร ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566
นางคังกล่าวว่าตนโชคดีที่สามารถเข้าถึงข้อมูลจากโลกภายนอก และยังได้รับแฟลชไดรฟ์ที่บรรจุละครโทรทัศน์ของเกาหลีใต้ ซึ่งตนมองว่าแปลกใหม่และน่าเชื่อถือมากกว่าการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเกาหลีเหนือ แม้จะตระหนักดีว่าหากถูกจับได้ อาจต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม
“เพื่อนของฉันสามคนได้รับโทษประหารชีวิต โดยในจำนวนนั้นสองคนถูกประหารต่อหน้าสาธารณชน เพียงเพราะเผยแพร่ละครโทรทัศน์ของเกาหลีใต้” นางคังกล่าว “หนึ่งในนั้นอายุเพียง 19 ปีเท่านั้น … พวกเขาได้รับการปฏิบัติราวกับเป็นอาชญากรที่ก่อคดีสะเทือนขวัญ”
นางคังหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคำพูดของตนจะสามารถ “ปลุกให้ชาวเกาหลีเหนือเกิดความตื่นรู้” และ “ชี้นำพวกเขาสู่เส้นทางแห่งเสรีภาพ”
นางคิมกล่าวหาเกาหลีเหนือว่าได้ส่งทหารเข้าร่วมการรบในยูเครน โดยที่ทหารเหล่านั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังจะไปที่ใด และสุดท้ายก็กลายเป็นโล่มนุษย์ที่ต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อแลกกับเงิน
“นี่คือการค้ามนุษย์ในรูปแบบใหม่ที่ไม่อาจยอมรับได้” นางคิมกล่าว
นางคิมเรียกร้องให้นายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนผ่านกระบวนการของศาลอาญาระหว่างประเทศ
นางคิมกล่าวย้ำต่อประชาคมโลกว่า “การเพิกเฉยก็เท่ากับการเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในความผิดนั้น จงยืนหยัดเพื่อต่อต้านการกระทำอันป่าเถื่อนอย่างมีแบบแผนของระบอบเผด็จการนี้”
นายฌอน ชุง หัวหน้าองค์กรฮันวอยซ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มพันธมิตรองค์กรภาคประชาสังคม 28 แห่งทั่วโลก ได้เรียกร้องให้จีนและประเทศต่าง ๆ ยุติการบังคับส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับสู่เกาหลีเหนือ
นายชุงเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกยูเอ็นร่วมกันผลักดันให้คณะมนตรีความมั่นคงส่งเรื่องเกาหลีเหนือเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ พร้อมทั้งให้มีการกำหนดและบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อ “เจ้าหน้าที่ทุกคนและหน่วยงานทุกแห่งที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือว่าเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมอันป่าเถื่อนของเกาหลีเหนือ”