ความร่วมมืออินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

ผู้นำกองกำลังภาคพื้นดินหารือเรื่องปัญญาประดิษฐ์และความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกลาโหมในการประชุมกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิก พ.ศ. 2568

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ผู้นำกองทัพและอุตสาหกรรมกลาโหมจาก 33 ประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ได้เข้าร่วมการประชุมกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิกประจำปี ณ เมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2568 เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือและการประสานงานระหว่างพันธมิตรและหุ้นส่วนที่ต้องเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อน

ผู้เข้าร่วมการประชุมสามวันนี้ ซึ่งจัดโดยสมาคมกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติการร่วม โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อย่างรวดเร็ว ความสำคัญของการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนภาคอุตสาหกรรมกลาโหม และการฝึกอบรมนายทหารชั้นประทวนซึ่งเป็นแกนหลักของภารกิจภาคพื้นดิน

พล.ร.อ. ซามูเอล ปาปาโร ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐอเมริกาประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก กล่าวถึงบทบาทสำคัญของกองกำลังภาคพื้นในภูมิภาค และ “ขีดความสามารถและเจตจำนง” ในการยืนหยัดต่อประเทศที่เป็นภัยคุกคาม “ต้นทุนของความก้าวร้าวย่อมสูงกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับ” พล.ร.อ. ปาปาโรกล่าว

ภูมิภาคนี้ครอบคลุมมากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่โลก โดยรวมถึงมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ซึ่งหมายความว่ากำลังพลที่ต้องการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และปกป้องอธิปไตยจะต้องเผชิญกับ “อุปสรรคด้านระยะทาง” ในภารกิจของตน

“พันธมิตรและหุ้นส่วนของเรานั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง” พล.ร.อ. ปาปาโรกล่าว โดยอ้างถึง “ความท้าทายที่หนักหน่วงแต่ไม่เกินความสามารถ” กองกำลังร่วมมีการฝึกฝนเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดเกราะป้องกันที่มีประสิทธิภาพ พล.ร.อ. ปาปาโรกล่าว

ทหารสาธารณรัฐเกาหลีทำการฝึกซ้อมในระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์แบบพหุภาคีที่จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568
ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ผู้นำทางทหารได้หารือเกี่ยวกับการปรับกำลังพลและการตั้งฐานเพื่อรองรับความท้าทายด้านความมั่นคงผ่านปฏิบัติการ กิจกรรม และการลงทุนในระดับพหุภาคี พล.ท. รอย กาลิโด ผู้บัญชาการทหารบกฟิลิปปินส์ กล่าวว่า “เราต้องมั่นใจว่ากำลังพลพหุชาติจะสามารถตอบโจทย์ภารกิจได้อย่างเหมาะสม”

“เราไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้ด้วยตนเอง” พล.อ. ยาสึโนริ โมริชิตะ ผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่น กล่าวในวงเสวนา “เราจำเป็นต้องประสานงานกับผู้อื่น”

บรรดาผู้นำต่างเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาและปรับปรุงระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อใช้ในการจัดการด้านโลจิสติกส์ การสื่อสาร และความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น ปัญญาประดิษฐ์ยังช่วยให้กองกำลังสามารถแบ่งปันข้อมูลกับกองกำลังของประเทศอื่น ๆ ได้อีกด้วย

เทคโนโลยีนี้ช่วยลดขั้นตอนที่ใช้เวลานาน โดยทำหน้าที่สำคัญได้ภายในไม่กี่วินาทีแทนที่จะใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน พล.จ. โดนัลด์ เค. บรูกส์ รองผู้บัญชาการฝ่ายปฏิบัติการของกองบัญชาการกองทัพบกสหรัฐฯ ด้านอวกาศและการป้องกันขีปนาวุธ กล่าว เช่น ระบบปัญญาประดิษฐ์สามารถวิเคราะห์ตามรูปทรงเรขาคณิตและธรณีวิทยาเพื่อกำหนดว่ายุทโธปกรณ์ชนิดใดเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์เฉพาะ

ปัญญาประดิษฐ์ “ให้ทั้งความรวดเร็วและขีดความสามารถ” พล.ท. มาเรีย บี. แบเร็ตต์ ผู้บัญชาการกองบัญชาการไซเบอร์ของกองทัพบกสหรัฐฯ กล่าว “เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เราก้าวหน้าไปอย่างมาก”

การสื่อสารระหว่างกองกำลังภาคพื้นดินและผู้นำอุตสาหกรรมกลาโหมช่วยให้มั่นใจว่ากำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่มีสิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองต่อภัยพิบัติหรือการสู้รบ มีความต้องการเสมอสำหรับห่วงโซ่อุปทานที่สามารถส่งมอบได้มากขึ้น เร็วขึ้น ดีขึ้น และชาญฉลาดขึ้น พล.ร.อ. ปาปาโรกล่าว

“จากโรงงานถึงสนามรบ” นางทารา เมอร์ฟี โดเฮอร์ตี้ ประธานกรรมการบริหารบริษัทโกวินีที่พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านกลาโหม กล่าว “การจินตนาการถึงสิ่งนี้จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

“อุตสาหกรรมมีความสำคัญมาก” นางซูซาน วาเรส-ลัม ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียแปซิฟิกเพื่อการศึกษาด้านความมั่นคงแดเนียล เค. อิโนะอุเอะ ในโฮโนลูลู กล่าว “ห่วงโซ่อุปทานส่วนใดมีช่องว่าง ความต้องการด้านห่วงโซ่อุปทานมีอะไรบ้าง ทำความเข้าใจสิ่งที่จำเป็นและสิ่งที่เป็นไปได้”

ผู้ร่วมอภิปรายยังพูดถึงความจำเป็นในการตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างรุ่นในการพัฒนานายทหารชั้นประทวน เช่น ทหารหนุ่มมักเชี่ยวชาญสื่อสังคมออนไลน์และทักษะคอมพิวเตอร์มากกว่าผู้นำอาวุโส ความเข้าใจในทักษะและความสนใจที่แตกต่างกันเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ศักยภาพของทหารใหม่ที่มีความสามารถด้านการเป็นผู้นำให้เต็มที่

“ทหารต้องการความท้าทาย และในฐานะผู้นำ เรามีหน้าที่รับผิดชอบที่จะสร้างความท้าทายนั้นให้กับเหล่าทหาร” พ.จ. คิม เฟลมิงแฮม ผู้บังคับการกองพันทหารราบกองทัพบกออสเตรเลีย กล่าว “เราพัฒนาขึ้นมากแล้ว แต่ก็ยังมีงานต้องทำอีกมาก”

การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มารวมในการสอนบุคลากรชั้นประทวนเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าคือการสอนและฝึกฝนทักษะพื้นฐาน “เทคโนโลยีมีความสำคัญ แต่หน้าที่ของเราผู้เป็นทหารคือการสร้างสมดุลระหว่างเทคโนโลยีกับกำลังคน” พล.ท. ไซมอน สจ๊วต ผู้บัญชาการกองทัพบกออสเตรเลีย กล่าว

การประชุมกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิกยังช่วยให้ผู้เข้าร่วมสร้างความสัมพันธ์ทั้งภายในและข้ามกองทัพของแต่ละประเทศ “เราเป็นกองกำลังที่ทรงพลังมาก” พล.ท. สจ๊วตกล่าว “กำลังภาคพื้นดินที่เราสร้างขึ้นร่วมกันเป็นกองทัพเป็นที่น่านับถือ”

แสดงความคิดเห็นที่นี่

ความเป็นส่วนตัวของคุณเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา หากคุณเลือกที่จะระบุที่อยู่อีเมลของคุณ เจ้าหน้าที่ของ ฟอรัม จะใช้เพื่อติดต่อกับคุณเท่านั้น เราจะไม่เปิดเผยหรือเผยแพร่ที่อยู่อีเมลของคุณ เฉพาะชื่อและเว็บไซต์ของคุณเท่านั้นที่จะปรากฏในความคิดเห็นของคุณ ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button