ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ผลการสอบสวนพบว่าจีนใช้เครือข่ายองค์กรนอกภาครัฐปลอมในองค์การสหประชาชาติเพื่อข่มขู่ฝ่ายวิจารณ์

เอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส

ผลการสอบสวนฉบับหนึ่งระบุว่าจีนกำลังใช้เครือข่ายกลุ่มที่แฝงตัวมาในคราบองค์กรนอกภาครัฐเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อสอดส่องและข่มขู่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น

การสอบสวนที่มีชื่อว่า “เป้าหมายของจีน” ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของสื่อ 42 แห่งทั่วโลก ได้เจาะลึกถึงกลยุทธ์ที่รัฐบาลจีนใช้เพื่อปิดปากผู้วิจารณ์ในต่างประเทศ

ในส่วนหนึ่งของการสอบสวน ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2568 โดยสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวเชิงสืบสวนระหว่างประเทศ ได้กล่าวถึงการแสดงความคุกคามของจีนที่เพิ่มขึ้นในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมุ่งเน้นไปที่การปรากฏตัวเพิ่มขึ้นของกลุ่มองค์กรนอกภาครัฐที่มีท่าทีสนับสนุนจีนและจัดตั้งโดยรัฐบาล ซึ่งเรียกกันว่า “กงโก”

กลุ่มเหล่านี้มักเข้าร่วมการประชุมของคณะมนตรีเป็นจำนวนมากเพื่อชื่นชมจีน และนำเสนอข้อมูลเชิงบวกเกี่ยวกับการดำเนินการของจีน ซึ่งมักจะขัดแย้งกับรายงานของยูเอ็นและผู้เชี่ยวชาญ ที่ระบุถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการปราบปรามในวงกว้าง

เช่น รายงานเมื่อ พ.ศ. 2565 โดยข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็นในขณะนั้นได้ระบุถึงความเป็นไปได้ในการเกิด “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ต่อชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ในภูมิภาคซินเจียงทางตะวันตกของจีน ขณะที่รายงานฉบับอื่น ๆ ได้กล่าวถึงกรณีการพรากเด็กชาวทิเบตจากครอบครัว รวมถึงการมุ่งเป้าไปที่นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม เมื่อองค์กรนอกภาครัฐที่แท้จริงยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นในการประชุมคณะมนตรี กลุ่มกงโกมักพยายามรบกวนการประชุมและกลบเสียงคำให้การของกลุ่มเหล่านั้น ตามรายงานของสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวเชิงสืบสวนระหว่างประเทศ

รายงานระบุว่าจำนวนองค์กรนอกภาครัฐของจีนที่จดทะเบียนกับยูเอ็นได้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตั้งแต่ พ.ศ. 2561 โดยการวิเคราะห์ของสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวเชิงสืบสวนระหว่างประเทศเกี่ยวกับองค์กรนอกภาครัฐ 106 แห่งจากจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวันซึ่งปกครองตนเอง ที่จดทะเบียนกับยูเอ็น พบว่ามีจำนวน 59 แห่งที่มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลจีนหรือพรรคคอมมิวนิสต์จีน

“นี่คือการกัดกร่อน และความไม่ซื่อสัตย์” นางมิเชล เทย์เลอร์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนระหว่าง พ.ศ. 2565 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2568 กล่าวไว้ในรายงาน

เธอประณามความพยายามในวงกว้างของรัฐบาลจีนว่า “ต้องการเบี่ยงเบนจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของตนเองและปั้นแต่งเรื่องราวขึ้นมาใหม่”

การสอบสวนพบว่ากลุ่มที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีนเหล่านี้ยังเฝ้าติดตามและข่มขู่ผู้ที่วางแผนจะให้การเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้นเรื่อย ๆ

สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวเชิงสืบสวนระหว่างประเทศพร้อมทั้งหุ้นส่วนระบุว่า พวกเขาได้พูดคุยกับนักเคลื่อนไหวและทนายความ 15 คนที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่ง “เล่าว่าตนถูกจับตาหรือคุกคามโดยบุคคลที่เชื่อว่าเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีน”

เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นภายในยูเอ็นและในสถานที่อื่น ๆ ในนครเจนีวา

รายงานชี้ให้เห็นว่า กลุ่มนักเคลื่อนไหวและผู้เห็นต่างชาวจีนกลุ่มหนึ่งมีความหวาดกลัวต่อการปรากฏตัวที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลจีนในคณะมนตรีมากเสียจนพวกเขาปฏิเสธที่จะเข้าไปในอาคารของยูเอ็นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567

“แทนที่จะเข้าไป พวกเขาจัดประชุมลับบนชั้นบนสุดของอาคารสำนักงานธรรมดา ๆ แห่งหนึ่งบริเวณใกล้เคียง” กับนายโฟล์เกอร์ เทิร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็น ตามข้อมูลจากรายงาน

อย่างไรก็ตาม ได้มีบุคคลสี่คนที่อ้างว่าตนมาจากสมาคมสิทธิมนุษยชนกวางตุ้งปรากฏตัวขึ้นอย่างกะทันหัน และสอบถามเกี่ยวกับการประชุมซึ่งพวกเขาไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม

นางซูมรอตัย อากิน รองประธานสภาอุยกูร์โลก ให้สัมภาษณ์กับสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวเชิงสืบสวนระหว่างประเทศว่า เธอเชื่อว่ากลุ่มจากกวางตุ้งนี้กำลังส่งข้อความจากรัฐบาลจีนว่า “เรากำลังจับตาดูคุณอยู่ … คุณไม่มีทางหนีเราได้”

แสดงความคิดเห็นที่นี่

ความเป็นส่วนตัวของคุณเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา หากคุณเลือกที่จะระบุที่อยู่อีเมลของคุณ เจ้าหน้าที่ของ ฟอรัม จะใช้เพื่อติดต่อกับคุณเท่านั้น เราจะไม่เปิดเผยหรือเผยแพร่ที่อยู่อีเมลของคุณ เฉพาะชื่อและเว็บไซต์ของคุณเท่านั้นที่จะปรากฏในความคิดเห็นของคุณ ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button