ประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกกระชับความร่วมมือทางทหารผ่านการฝึกอบรม การสรรหากำลังพล และความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์

ปีเตอร์ พาร์สัน
ความร่วมมือทางกลาโหมในภูมิภาคแปซิฟิกกำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนบุคลากรและการสรรหากำลังพลข้ามชาติ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการทำงานร่วมกัน ประเทศหมู่เกาะ โดยเฉพาะปาปัวนิวกินี กำลังกระชับความร่วมมือทางทหารกับหุ้นส่วนสำคัญอย่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา เพื่อยกระดับความพร้อมและเสริมสร้างความสามัคคีเชิงยุทธศาสตร์
ปาปัวนิวกินีใช้ประโยชน์จากความร่วมมือทางกลาโหม ตั้งแต่การฝึกอบรมร่วมไปจนถึงข้อตกลงด้านการสรรหากำลังพล เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ ขยายขอบเขตของปฏิบัติการ และบูรณาการเข้ากับโครงสร้างความมั่นคงของภูมิภาค
“บุคลากรทางทหารที่ฝึกอบรมร่วมกันจะพัฒนาความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทำให้สามารถปรับแนวทางยุทธวิธีและบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมให้สอดคล้องกัน ซึ่งช่วยให้การทำงานร่วมกันระหว่างภารกิจร่วมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นายมิฮาย โซรา ผู้อำนวยการโครงการหมู่เกาะแปซิฟิกที่สถาบันโลวีในออสเตรเลีย กล่าวกับ ฟอรัม “ความคุ้นเคยนี้ช่วยลดความขัดแย้งในการปฏิบัติงานร่วมกัน เร่งเวลาในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ และเอื้อให้การบูรณาการขีดความสามารถระหว่างประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น”
บทบาททางกลาโหมที่เพิ่มขึ้นของปาปัวนิวกินีได้รับการเน้นย้ำอีกครั้งผ่านการเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกทาไมโอก สไตรก์ พ.ศ. 2568 ร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ในเดือนเมษายน การซ้อมรบประจำปีครั้งที่ห้าช่วยส่งเสริมความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างกองทัพปาปัวนิวกินีกับกองทัพสหรัฐฯ โดยมีปัจจัยด้านภูมิประเทศและภารกิจที่หลากหลาย ซึ่งมีส่วนยกระดับ “ความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างกัน” ตามรายงานของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำปาปัวนิวกินี
ในขณะเดียวกัน ความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างปาปัวนิวกินีกับออสเตรเลียคาดว่าจะได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในสนธิสัญญาการป้องกันในเร็ววันนี้ ภายใต้สนธิสัญญาที่เสนอ ซึ่งสืบเนื่องมาจากข้อตกลงด้านความมั่นคงทวิภาคีเมื่อ พ.ศ. 2566 กองกำลังทหารของแต่ละประเทศอาจสามารถเข้าร่วมปฏิบัติการในกองทัพของอีกฝ่ายได้
นายโซรากล่าวว่า สนธิสัญญาฉบับนี้ถือเป็น “โอกาสสำคัญในการเสริมสร้างเครือข่ายความมั่นคงในภูมิภาค ผ่านการยกระดับความสามารถในการทำงานร่วมกัน ความสามัคคีในปฏิบัติการ และความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ระหว่างกองกำลังของสองประเทศที่ใหญ่ที่สุดในแปซิฟิกใต้”
เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสรรหากำลังพล รัฐบาลออสเตรเลียได้เปิดโอกาสให้ผู้พำนักถาวรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจากประเทศพันธมิตร เช่น แคนาดา นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา สามารถสมัครเข้าร่วมกองทัพออสเตรเลียได้ โครงการนี้อาจขยายไปครอบคลุมถึงปาปัวนิวกินีและประเทศหมู่เกาะอื่น ๆ ได้เช่นกัน
การบูรณาการกองกำลังทหารที่กำลังดำเนินอยู่นั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ด้านการสรรหากำลังพลเท่านั้น เช่น โครงการความช่วยเหลือซึ่งกันและกันของกองทัพนิวซีแลนด์ได้จัดการฝึกอบรมแก่บุคลากรทางทหารในประเทศต่าง ๆ รวมถึงฟิจิ ปาปัวนิวกินี ตองงา และวานูอาตู นิวซีแลนด์และปาปัวนิวกินีได้ลงนามในข้อตกลงสถานะของกองกำลังใน พ.ศ. 2561 และดำเนินกิจกรรมด้านการศึกษาและฝึกอบรมทางทหารร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
“การบูรณาการบุคลากรมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความสอดคล้องของหลักการทางทหาร” นายโซรากล่าว “นอกจากนี้ บุคลากรเหล่านั้นยังช่วยยกระดับความร่วมมือในการฝึกซ้อมพหุภาคีอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมทั้งยกระดับความสอดคล้องเชิงยุทธศาสตร์และความสามารถในการทำงานร่วมกันในสถานการณ์ที่ซับซ้อนและหลากหลายมิติ”
ความเชื่อมโยงเหล่านี้ยัง “สามารถสร้างแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างจากแนวทางเดิมได้อีกด้วย” นายโทมัส ลิม นักวิเคราะห์อาวุโสจากวิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส. ราชารัตนัมของสิงคโปร์ กล่าวกับ ฟอรัม “ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาที่ซับซ้อนขึ้น … ความสัมพันธ์เหล่านี้สามารถมีบทบาทช่วยคลี่คลายความตึงเครียดระหว่างกันได้”
ปีเตอร์ พาร์สัน ผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในเมืองแฮมิลตัน ประเทศนิวซีแลนด์