นิวซีแลนด์เดินหน้าปฏิรูปกองทัพด้วยแผนเสริมสร้างขีดความสามารถด้านกลาโหมมูลค่า 2.37 แสนล้านบาท (ประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ปีเตอร์ พาร์สัน
กองทัพนิวซีแลนด์จะได้รับการปฏิรูปครั้งใหญ่ให้เป็นกองทัพพร้อมรบที่สอดคล้องกับชาติพันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาค พร้อมรับมือกับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ภายใต้แผนเสริมสร้างขีดความสามารถด้านกลาโหมมูลค่า 2.37 แสนล้านบาท (ประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
แผนเสริมสร้างขีดความสามารถด้านกลาโหม ซึ่งเปิดเผยในเดือนเมษายน พ.ศ. 2568 จะเพิ่มงบประมาณกลาโหมให้เกินร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภายในระยะเวลาแปดปี ซึ่งเกือบเป็นสองเท่าของระดับปัจจุบัน
“แผนแม่บทฉบับนี้วางกรอบไว้สำหรับระยะยาวถึง 15 ปี แต่มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อเน้นการลงทุนที่จำเป็นเร่งด่วนในช่วงสี่ปีข้างหน้า เพื่อให้กองทัพของเราสามารถปรับตัวให้ทันต่อสภาพแวดล้อมโลกรอบตัวเราที่เปลี่ยนแปลงไป” นายคริสโตเฟอร์ ลุกซัน นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าว “พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ งบประมาณนี้คือจุดเริ่มต้น ไม่ใช่ขีดจำกัดสูงสุดของสิ่งที่เราจะมอบให้กองทัพของเรา”
แผนดังกล่าวครอบคลุมการพัฒนาในหลายขอบเขต ซึ่งที่เห็นได้ชัดคือการเพิ่มขีดความสามารถในการโจมตี การปรับปรุงความทันสมัยของกองทัพเรือและกองทัพอากาศ และการพัฒนาเทคโนโลยีการลาดตระเวนแบบไร้คนควบคุม ตามที่เจ้าหน้าที่กล่าว ส่วนหนึ่งของการปรับปรุงที่วางแผนไว้คือระบบขีปนาวุธ อากาศยานไร้คนขับระยะไกล และแพลตฟอร์มลาดตระเวนอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ในการเฝ้าระวังน่านน้ำอาณาเขตอันกว้างใหญ่ของนิวซีแลนด์ โครงการต่าง ๆ ครอบคลุมตั้งแต่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่ฐานทัพเรือเดวอนพอร์ต ไปจนถึงการลงทุนด้านความมั่นคงทางไซเบอร์
นางจูดิธ คอลลินส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนของการปฏิรูปดังกล่าว โดยอ้างถึงสภาพแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป “แผนนี้แสดงให้เห็นว่าเราต้องการทรัพยากร อุปกรณ์ และการสนับสนุนใดบ้างเพื่อปรับปรุงความทันสมัยให้กองทัพนิวซีแลนด์ ให้สามารถปฏิบัติการได้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต” นางคอลลินส์กล่าว
ตัวเลือกในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการโจมตีรวมถึงการติดตั้งขีปนาวุธขั้นสูงให้กับเรือฟริเกตชั้นแอนแซกของกองทัพเรือนิวซีแลนด์ และเครื่องบิน พี-8เอ โพไซดอน ของกองทัพอากาศนิวซีแลนด์ เช่น ขีปนาวุธโจมตีทางทะเลที่ผลิตโดยนอร์เวย์หรือขีปนาวุธต่อต้านเรือระยะไกล เอจีเอ็ม-158ซี ที่ผลิตโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งสอดคล้องกับการจัดซื้อแบบเดียวกันของออสเตรเลีย เป้าหมายคือเพื่อสร้าง “อำนาจในการป้องปรามต่อฝ่ายตรงข้าม และความสามารถในการตอบโต้เรือศัตรูจากระยะที่ไกลมากขึ้น” ตามที่ระบุไว้ในแผน
การลงทุนในการบำรุงรักษาเรือฟริเกตจะช่วยให้เรือชั้นแอนแซกของกองทัพเรือยังคงสามารถปฏิบัติการได้จนถึงช่วงต้นทศวรรษ 2030 (พ.ศ. 2573 – 2582) เพื่อเป็นการเชื่อมระยะเวลาก่อนที่จะจัดหาเรือรุ่นใหม่มาเข้าประจำการ เรือไร้คนควบคุมแบบอัตโนมัติจะเข้ามาเสริมขีดความสามารถในการตรวจการณ์ทางทะเล
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 รัฐบาลจีนได้จัดการฝึกซ้อมยิงกระสุนจริงทางเรือในทะเลแทสมัน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างประเทศนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ทำให้สายการบินพาณิชย์จำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางการบิน นักวิเคราะห์ระบุว่าการฝึกซ้อมเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และรัฐบาลออสเตรเลียกับรัฐบาลนิวซีแลนด์ได้แสดงความกังวลต่อการที่รัฐบาลจีนไม่ได้แจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างเพียงพอ
“การที่นิวซีแลนด์ตั้งอยู่โดดเดี่ยวทางภูมิศาสตร์ ไม่ได้ช่วยให้เราปลอดภัยจากภัยคุกคามเหมือนในอดีตอีกต่อไป” ข้อความในแผนเสริมสร้างขีดความสามารถด้านกลาโหมระบุ
แผนนี้ยังมุ่งเสริมความเป็นพันธมิตรระหว่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยการยกระดับความร่วมมือระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ พร้อมคำมั่นที่จะ “รวมกำลังทหารเพื่อปกป้องผลประโยชน์ ค่านิยม และดินแดนที่มีร่วมกัน” จะมีการประสานงานกันด้านการจัดซื้อยุทโธปกรณ์เพื่อเสริมความสามารถในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ มีการจัดสรรงบประมาณราว 4.08 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับจัดหาเฮลิคอปเตอร์ลำใหม่มาทดแทนแบบซูเปอร์ซีสไปรต์ของกองทัพเรือนิวซีแลนด์ภายใน พ.ศ. 2570 ซึ่งอาจเป็น เอ็มเอช-60อาร์ ที่ผลิตในสหรัฐฯ เพื่อให้สอดคล้องกับระบบของออสเตรเลีย ตามรายงานของเนวัลนิวส์
การเปิดเผยแผนเสริมสร้างขีดความสามารถด้านกลาโหมในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการหารือเมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคม ระหว่างนายวินสตัน ปีเตอร์ส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนิวซีแลนด์ กับนายมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือด้านกลาโหมเพื่อรับรองถึง “ความมั่นคงและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก” โดยผู้นำทั้งสองได้ “ยืนยันความเป็นหุ้นส่วนที่แน่นแฟ้นระหว่างสหรัฐฯ กับนิวซีแลนด์ และความมุ่งมั่นร่วมกันต่อเสถียรภาพของภูมิภาค” กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ
ปีเตอร์ พาร์สัน ผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในเมืองแฮมิลตัน ประเทศนิวซีแลนด์