ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างออสเตรเลียกับฟิลิปปินส์สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในระดับภูมิภาค

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
เจ้าหน้าที่กองทัพออสเตรเลียประมาณ 260 นายได้เข้าร่วมการฝึกพหุชาติ บาลิกาตัน ที่ฟิลิปปินส์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2568 ซึ่งสะท้อนถึงความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีของกองทัพออสเตรเลียในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ฟิลิปปินส์ถือเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนด้านกลาโหมระดับภูมิภาคที่สำคัญที่สุดของออสเตรเลีย และทั้งสองประเทศมีความมุ่งมั่นร่วมกันในการส่งเสริมภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่สงบสุข มีเสถียรภาพ และเจริญรุ่งเรือง” พล.ร.ท. จัสติน โจนส์ แห่งกองทัพเรือออสเตรเลีย ผู้บัญชาการฝ่ายปฏิบัติการร่วมของกองทัพออสเตรเลีย กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2568
ใน พ.ศ. 2568 กองทัพออสเตรเลียและกองทัพฟิลิปปินส์จะจัดการฝึกอบรมและกิจกรรมแลกเปลี่ยนร่วมกันกว่า 20 รายการ ภายใต้โครงการทีมฝึกอบรมร่วมระหว่างออสเตรเลียกับฟิลิปปินส์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2562 ซึ่งจำนวนกิจกรรมดังกล่าวเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากที่เคยดำเนินการใน พ.ศ. 2567 ตามรายงานของกองทัพออสเตรเลีย
“ปฏิสัมพันธ์ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับฟิลิปปินส์ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเราในการเป็นหุ้นส่วนด้านกลาโหมที่สำคัญและไว้วางใจได้ในภูมิภาค” พล.ร.ท. โจนส์กล่าว
กิจกรรมภายใต้โครงการทีมฝึกอบรมร่วมระหว่างออสเตรเลียกับฟิลิปปินส์ครอบคลุมหลากหลายด้าน เช่น การวิเคราะห์ข่าวกรอง การสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ การสนับสนุนทางทะเล ความปลอดภัยในการบิน ปฏิบัติการเรือขนาดเล็ก วิศวกรรมการสู้รบ และการสนับสนุนด้านการยิง
“โครงการใน พ.ศ. 2568 ได้สานต่อความสำเร็จจากความร่วมมือที่ผ่านมา โดยครอบคลุมการฝึกทั้งในขอบเขตทางทะเล ภาคพื้นดิน และอากาศ” พ.ต. ลัคลัน นิวแฮม ผู้ประสานงานโครงการ กล่าว “นอกจากนี้ เรายังมีแผนดำเนินความร่วมมือและการฝึกอบรมด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ตลอดจนด้านโลจิสติกส์และภารกิจสนับสนุนที่จำเป็นต่อปฏิบัติการทางทหารร่วมสมัย”
ขณะเดียวกัน ในการฝึกซ้อมบาลิกาตันครั้งที่ 40 เจ้าหน้าที่จากกองทัพบกออสเตรเลียและกองทัพอากาศออสเตรเลียได้เข้าร่วมฝึกซ้อมกับกองกำลังราว 16,000 นายจากญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา การฝึกซ้อมบาลิกาตัน ซึ่งหมายถึงเคียงบ่าเคียงไหล่ในภาษาตากาล็อกของฟิลิปปินส์ จัดขึ้นโดยมีฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ เป็นผู้นำ และครอบคลุมทั้งขอบเขตทางอากาศ ไซเบอร์ ภาคพื้นดิน ทะเล และอวกาศ อีกทั้งยังมี 16 ประเทศที่ส่งผู้สังเกตการณ์เข้าร่วม
“การฝึกบาลิกาตัน พ.ศ. 2568 สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์ที่มีต่อความร่วมมือระดับทวิภาคี ตลอดจนความสามารถในปฏิบัติการร่วมกับประเทศหุ้นส่วนอื่น ๆ” พล.ร.ท. โจนส์กล่าวในแถลงการณ์ “การมีส่วนร่วมของออสเตรเลียแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นด้านความมั่นคงและเสถียรภาพ รวมถึงการมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก”
ในเดือนเมษายน เรือพิฆาตติดตั้งขีปนาวุธนำวิถี เอชเอ็มเอเอส ซิดนีย์ จากกองทัพเรือออสเตรเลีย เรือฟริเกตติดตั้งขีปนาวุธนำวิถี บีอาร์พี อันโตนิโอ ลูน่า จากกองทัพเรือฟิลิปปินส์ พร้อมเครื่องบินจากฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมความร่วมมือทางทะเลในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์

ภาพจาก: กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย
“ออสเตรเลียและหุ้นส่วนของเราต่างมุ่งมั่นที่จะรักษาสิทธิในเสรีภาพการเดินเรือและการบินผ่านน่านฟ้า การใช้น่านน้ำและน่านฟ้าสากลได้โดยชอบตามกฎหมาย รวมถึงสิทธิทางทะเลอื่น ๆ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล” กองทัพออสเตรเลียระบุ
ใน พ.ศ. 2538 รัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ตกลงที่จะร่วมมือกันในเรื่องกิจกรรมด้านกลาโหม และข้อตกลงกองกำลังเยือนใน พ.ศ. 2555 ที่อนุญาตให้กองกำลังของแต่ละประเทศฝึกอบรมและฝึกซ้อมในดินแดนของกันและกัน กระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลียรายงานว่า โครงการความร่วมมือด้านกลาโหมที่ได้รับการเสริมสร้างในระดับทวิภาคี ซึ่งจัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2562 มีบทบาทในการส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น ความมั่นคงทางทะเล การต่อต้านการก่อการร้าย ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการรับมือภัยพิบัติ
“โครงการทีมฝึกอบรมร่วมระหว่างออสเตรเลียกับฟิลิปปินส์มีบทบาทสำคัญในการสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคง” พล.ร.ท. โจนส์