รัฐบาลทหารเมียนมาจำกัดขอบเขตการช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว และยังคงโจมตีอย่างต่อเนื่อง ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น

รอยเตอร์
รัฐบาลทหารเมียนมาระงับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่สำคัญแก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในพื้นที่ที่ต่อต้านการปกครองของตน ตามรายงานของสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
นอกจากนี้ ยูเอ็นยังระบุว่า กำลังทำการสอบสวนการโจมตีหลายสิบครั้งที่รัฐบาลทหารกระทำต่อฝ่ายตรงข้ามนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568 การโจมตีเหล่านี้รวมถึงการโจมตีทางอากาศจำนวน 16 ครั้งที่เกิดขึ้นหลังจากการประกาศพักรบในช่วงต้นเดือนเมษายน
สถานการณ์ด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลทหารนั้น อยู่ในสภาพวิกฤต นางราวินา ชัมดาซานี โฆษกประจำสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าว แผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด ซึ่งเป็นหนึ่งในแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในเมียนมาในรอบศตวรรษ ส่งผลให้บ้านเรือนของประชากร 28 ล้านคนได้รับความเสียหาย อาคารบ้านเรือนถล่ม ชุมชนพังทลาย และประชาชนจำนวนมากขาดแคลนอาหารและน้ำ
หลังเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านไปเพียงหนึ่งสัปดาห์ มีรายงานยอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,000 คน
“การโจมตีทางอากาศสร้างความตกใจและน่าวิตกอย่างยิ่ง ซึ่งจำเป็นต้องยุติโดยทันที และหันมาให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูชีวิตของผู้ประสบภัยแทน” นางชัมดาซานีกล่าว
หลายประเทศทั่วโลกเร่งส่งความช่วยเหลือมายังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดส่งเสบียงจำเป็น รวมถึงปฏิบัติการกู้ภัยและฟื้นฟู
ไม่กี่วันหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว รัฐบาลทหารของเมียนมาและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์อย่างน้อยหนึ่งกลุ่มที่ต่อสู้กับรัฐบาลทหารในสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมายาวนานสี่ปี ต่างก็ได้ประกาศพักรบ ตามรายงานของดิอิรวดี แม้จะมีการประกาศดังกล่าว ทว่าการปะทะกันยังคงดำเนินต่อไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากแผ่นดินไหว ซึ่งกองทัพได้ใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่พลเรือนและกลุ่มต่อต้าน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ในเมียนมา
“การจำกัดความช่วยเหลือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่กันไม่ให้ความช่วยเหลือไปถึงประชาชนที่รัฐบาลทหารมองว่าเป็นฝ่ายต่อต้านการยึดอำนาจเมื่อ พ.ศ. 2564” นายเจมส์ โรดเฮเวอร์ หัวหน้าทีมสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำเมียนมา กล่าว
ประชาชนหลายล้านคนได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองที่ยิ่งทวีความรุนแรง ซึ่งเป็นผลมาจากการรัฐประหารของรัฐบาลทหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาภาคส่วนเกษตรกรรมเป็นหลักต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ ประชาชนกว่า 3.5 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐานจากบ้านเกิด รวมถึงระบบบริการดูแลสุขภาพและระบบบริการสาธารณะที่จำเป็นก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก