ผู้นำอินเดียและศรีลังกาได้ลงนามในสนธิสัญญาทางกลาโหมและพลังงาน

ดิแอสโซซิเอเต็ด เพรส
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2568 อินเดียและศรีลังกาบรรลุข้อตกลงด้านกลาโหมและพลังงาน เนื่องจากรัฐบาลอินเดียมุ่งหวังที่จะเสริมสร้างอิทธิพลในศรีลังกา อินเดียกังวลเกี่ยวกับขยายอิทธิพลของจีนในศรีลังกา ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางเดินเรือที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและอินเดียมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ของตน
รัฐบาลจีนได้ให้เงินกู้แก่ศรีลังกาเป็นจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์สำหรับโครงการพัฒนาต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การล่มสลายทางเศรษฐกิจของศรีลังกาใน พ.ศ. 2565 ได้ทำให้ลำดับความสำคัญของประเทศเปลี่ยนแปลงไป และรัฐบาลอินเดียได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้วยการสนับสนุนทางการเงินและวัตถุดิบอย่างมหาศาล
ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นจากการเจรจาระหว่างนายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย และนายอนุรา คุมารา ดิษสะนายะเก ประธานาธิบดีศรีลังกา ในขณะที่นายโมทีไปเยือนโคลัมโบช่วงต้นเดือนเมษายน นายโมทีเป็นผู้นำระดับโลกคนแรกที่ได้รับการต้อนรับจากนายดิษสะนายะเก นับตั้งแต่ผู้นำศรีลังกาปัจจุบันนี้ขึ้นดำรงตำแหน่งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567
หนึ่งในมาตรการสำคัญ ได้แก่ การที่ผู้นำทั้งสองร่วมเปิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 120 เมกะวัตต์ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากอินเดีย ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างสองประเทศ
ศรีลังกาประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานอย่างรุนแรงใน พ.ศ. 2565 เนื่องจากไม่สามารถชำระเงินค่าน้ำมันและถ่านหินเพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าได้ ด้วยเหตุนี้ ศรีลังกาจึงได้ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายในการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล
นายโมทีแสดงความยินดีต่อข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านกลาโหมดังกล่าว และกล่าวว่า ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันด้านความมั่นคงในมหาสมุทรอินเดียผ่านกลุ่มภูมิภาคที่เรียกว่าการประชุมความมั่นคงโคลัมโบ ซึ่งประกอบด้วยบังกลาเทศ มัลดีฟส์ และมอริเชียส
“ผมรู้สึกขอบคุณประธานาธิบดีดิษสานายะเกเป็นอย่างยิ่งที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของอินเดีย” นายโมทีกล่าว “เราเชื่อว่าอินเดียและศรีลังกามีผลประโยชน์ด้านความมั่นคงร่วมกัน ความมั่นคงของทั้งสองประเทศเชื่อมโยงและพึ่งพาอาศัยกัน”
นายโมทีกล่าวว่า อินเดียให้ความสำคัญกับศรีลังกาภายใต้ “นโยบายเพื่อนบ้านต้องมาก่อน” และได้ปฏิบัติหน้าที่ของเพื่อนบ้านเมื่อศรีลังกาประสบปัญหา
นายโมทีได้รับรางวัล “ศรีลังกา มิทรา วิภูชนะ” ซึ่งเป็นเกียรติสูงสุดที่มอบให้แก่ผู้นำต่างชาติ
นายดิษสะนายะเกกล่าวว่า ตนได้ย้ำในระหว่างการเจรจาว่าจะไม่มีการนำดินแดนของศรีลังกาไปใช้ในการกระทำใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของอินเดียหรือเสถียรภาพของภูมิภาค
จีนวางแผนที่จะสร้างโรงกลั่นน้ำมันมูลค่า 1.26 แสนล้านบาท (ประมาณ 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ใกล้ท่าเรือแฮมบันโตตา ซึ่งจีนได้เข้าครอบครองหลังจากศรีลังกาไม่สามารถชำระหนี้ที่ยืมมาเพื่อพัฒนาท่าเรือดังกล่าวได้