กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการควบคุมไฟป่าครั้งประวัติศาสตร์

ฟีลิกซ์ คิม
กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการควบคุมไฟป่าที่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม พ.ศ. 2568 รวมถึงเหตุไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปีของประเทศ เครื่องบินและกำลังพลของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นเข้าร่วมปฏิบัติการดับไฟร่วมกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงท้องถิ่นในจังหวัดอิวาเตะและยามานาชิ บนเกาะหลักฮอนชู
นายเก็น นากาทานิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น กล่าวเมื่อต้นเดือนมีนาคมว่าได้มีการส่งเฮลิคอปเตอร์ของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นจำนวน 11 ลำไปยังเมืองโอฟุนาโตะ จังหวัดอิวาเตะ ซึ่งเกิดไฟป่าลุกลามในพื้นที่ประมาณ 29 ตารางกิโลเมตร ทั้งยังทำลายหรือสร้างความเสียหายให้กับอาคารถึง 210 หลัง ตามรายงานของสื่อท้องถิ่น โดยยานพาหนะที่นำไปใช้ปฏิบัติการประกอบด้วยเฮลิคอปเตอร์ ซีเอช-47 จำนวน 8 ลำ สำหรับการดับไฟทางอากาศ และ ยูเอช-1 อีก 3 ลำ เพื่อส่งภาพวิดีโอตามเวลาจริง
การปฏิบัติการครั้งนี้ประกอบด้วยกำลังพลจากกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจากทั่วประเทศกว่า 2,000 นาย ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส
วิดีโอจาก: เกียวโดนิวส์/รอยเตอร์
“เจ้าหน้าที่ได้ทำการโปรยน้ำรวมทั้งสิ้น 832 ครั้ง … คิดเป็นน้ำประมาณ 4,160 ตัน หรือ 3.7 ล้านกิโลกรัม” นายนากาทานิกล่าว “เรากำลังดำเนินการให้แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ของเราพร้อมตอบสนองต่อภารกิจอื่น ๆ อย่างทันท่วงที เช่น การลาดตระเวนและเฝ้าระวังบริเวณรอบประเทศญี่ปุ่น การขนส่งผู้ป่วยฉุกเฉินจากเกาะห่างไกล และภัยพิบัติทางธรรมชาติในภูมิภาคอื่น ๆ”
เหตุไฟป่าครั้งนี้ทำให้ประชาชนมากกว่า 4,500 คนต้องอพยพ และเป็นไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศนับตั้งแต่ พ.ศ. 2518
กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นยังได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ ซีเอช-47 และเครื่องบินลำอื่น ๆ ไปยังจังหวัดยามานาชิ ซึ่งอยู่ห่างจากโอฟุนาโตะไปทางใต้ประมาณ 580 กิโลเมตร ที่ซึ่งไฟป่าได้เผาผลาญพื้นที่ป่าไปประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร และทำลายอาคารอย่างน้อยหนึ่งหลัง โดยมีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงท้องถิ่นและกำลังพลจากกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นกว่า 200 นายเข้าร่วมภารกิจ
ความพยายามในการตอบสนองเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น ซึ่งครอบคลุมถึงอุบัติเหตุร้ายแรงและภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่น แผ่นดินไหว พายุ ไฟป่า และน้ำท่วม โดยกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นให้บริการร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น รวมถึงการค้นหาและกู้ภัย การรักษาพยาบาล การป้องกันโรคระบาด การควบคุมน้ำท่วม การจัดหาน้ำ และการขนส่ง
ภารกิจการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการฝึกอบรมและการซ้อมรบของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น รวมถึงการฝึกร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วน เช่น สหรัฐอเมริกา เช่น ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2568 เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ได้ฝึกซ้อมการอพยพผู้บาดเจ็บรวมถึงการฝึกอื่น ๆ ในระหว่างการฝึกนันไคเรสคิวที่จัดขึ้นในญี่ปุ่น
“กระทรวงกลาโหมและกองกำลังป้องกันตนเองจะยังคงทำงานร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นและหน่วยดับเพลิงในการทำงานดับเพลิง และจะทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อความปลอดภัยของประชาชน” นายนากาทานิกล่าว
ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้