อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อินโดนีเซียเสริมกำลังเรือรบด้วยการปรับปรุงและโครงการเสริมประสิทธิภาพ

กัสดี ดา คอสตา

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 เรือรบเคอาร์ไอ บุง โตโม ของกองทัพเรืออินโดนีเซียที่เพิ่งได้รับการปรับปรุงใหม่ได้ออกจากฐานทัพเรือเบลาวันเพื่อเข้าร่วมการฝึกซ้อมแบบพหุภาคี อามัน ในทะเลอาหรับ เรือฟริเกตขนาด 90 เมตรลำนี้เป็นหนึ่งในเรือ 41 ลำที่ได้รับประโยชน์จากโครงการอาร์41 ของรัฐบาลอินโดนีเซียเพื่อขยายอายุการใช้งานของเรือและเสริมความสามารถในการสู้รบ

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหมและบริษัทต่อเรือของอินโดนีเซีย พีที พาล ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงเรือและการเพิ่มเทคโนโลยีและอาวุธขั้นสูง

การยกระดับยานพาหนะ เช่น เรือเคอาร์ไอ บุง โตโม และเคอาร์ไอ เกอราปู ซึ่งเป็นเรือเร็วขนาด 58 เมตร แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของอินโดนีเซียในการรักษากองเรือที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีและพร้อมปฏิบัติภารกิจ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์คอมพาสของอินโดนีเซีย เรือคอร์เวต เรือฟริเกต เรือลาดตระเวนชายฝั่ง และเรือขีปนาวุธเร็วเป็นเรือที่กำลังได้รับการปรับปรุง โดยเครื่องยนต์ ตัวเรือ ใบพัด เรดาร์ ระบบสื่อสาร อาวุธ และส่วนประกอบหลักอื่น ๆ กำลังได้รับการเสริมประสิทธิภาพ เพื่อให้กองเรือสามารถตอบสนองความต้องการในการต่อสู้และการปฏิบัติการที่ไม่ใช่การต่อสู้

“ด้วยการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอและเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยี เรือรบของอินโดนีเซียสามารถปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพในภารกิจทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ” นางไดอาน่า โรซา ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตของพีที พาล กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์ นอกจากการยกระดับด้านเทคโนโลยีแล้ว ตัวเรือเคอาร์ไอ บุง โตโม ยังได้รับการบำรุงรักษาที่ใต้แนวผิวน้ำ พร้อมทั้งการบำรุงรักษาวาล์ว อุปกรณ์ควบคุมความเสถียร และระบบขับเคลื่อน

“กองเรือที่ทันสมัยและได้รับการบำรุงรักษาอย่างดีจะช่วยเพิ่มความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจและช่วยจัดการกับภัยคุกคามต่าง ๆ เช่น การลักลอบทำประมง การลักลอบขนของ การก่อการร้ายทางทะเล รวมถึงภัยคุกคามทางทหารจากประเทศต่าง ๆ” นายมาร์เซลลัส ฮาเคง จายาวิบาวา ผู้เชี่ยวชาญทางทะเล กล่าวกับ ฟอรัม

กองทัพเรืออินโดนีเซียเผชิญกับการบุกรุกจากเรือประมงต่างประเทศบ่อยครั้ง โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งเข้ามาในเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินโดนีเซีย นายฮาเคงกล่าว การกระทำอันเป็นโจรสลัดในเส้นทางน้ำที่สำคัญ เช่น ช่องแคบมะละกา ยังคงเป็นข้อกังวล ขณะที่ข้อพิพาทด้านน่านน้ำในภูมิภาคยังคงเป็นความท้าทายด้านความมั่นคง

การปรับปรุงกองเรือช่วยเสริมความสามารถในการตรวจจับ การตอบสนองอย่างรวดเร็ว และกำลังรบ ซึ่งทั้งหมดนี้มีความสำคัญในการรักษาอธิปไตยของชาติ นายนายเบนิ ซูกาดิส นักวิเคราะห์จากสถาบันการศึกษาด้านกลาโหมและยุทธศาสตร์ของอินโดนีเซีย กล่าว

“ปัญหาเกี่ยวกับการบำรุงรักษา ซ่อมแซม และยกเครื่องใหม่ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญ เนื่องจากงบประมาณด้านกลาโหมที่จำกัดซึ่งมักจะเป็นอุปสรรคต่อความพร้อมใช้งานของยุทโธปกรณ์ทางทหาร” นายซูกาดิสกล่าวกับ ฟอรัม “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหานี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ดังนั้นรัฐบาลจึงพยายามเพิ่มงบประมาณอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้มั่นใจว่าเรือรบและระบบอาวุธยังคงอยู่ในสภาพที่ดีที่สุด”

การรักษากองเรือที่ทันสมัยเป็นสิ่งสำคัญต่อยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของอินโดนีเซีย ซึ่งเน้นความร่วมมือในภูมิภาค นายฮาเคงกล่าว เขายังกล่าวอีกว่า “ประเทศนี้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการฝึกซ้อมทางทะเลร่วมและการลาดตระเวนกับหุ้นส่วน เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการทำงานร่วมกันและการทูตด้านกลาโหม”

ในขณะที่เรือหลายลำที่ได้รับการปรับปรุงภายใต้โครงการ อาร์41 สร้างขึ้นที่ต่างประเทศ อินโดนีเซียกำลังลดการพึ่งพายุทโธปกรณ์ด้านกลาโหมที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยการเสริมสร้างอุตสาหกรรมในประเทศ นายทึคุ เรซาสยา อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยปัดจาดจารัน กล่าว เช่น บริษัทพีที พาล มีความสามารถที่ล้ำหน้าในการต่อเรือและบูรณาการเทคโนโลยีขั้นสูง ร่วมมือกับบริษัทด้านกลาโหมและสถาบันขนาดเล็ก เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุราบายา เพื่อเสริมสร้างความเชี่ยวชาญในท้องถิ่น

“ความสามารถในการบำรุงรักษาช่วยให้เราไม่ต้องพึ่งพาผู้จัดหาจากต่างประเทศทั้งหมด จึงสามารถช่วยลดต้นทุนได้” นายเรซาสยากล่าว “การปรับใช้เทคโนโลยีและความสามารถในการพัฒนาและยกระดับยานพาหนะของกองทัพเรือจะมีบทบาทสำคัญในการรับประกันยุทธศาสตร์ป้องกันทางทะเลระยะยาวของอินโดนีเซีย”

กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button