อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเอเชียใต้

อินเดียเพิ่มขีดความสามารถกองเรือรบท่ามกลางอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค

มันดีป ซิงห์

กองเรือรบของอินเดียที่กำลังขยายตัวมีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์ระบุ อินเดียกำลังก้าวขึ้นเป็นปัจจัยถ่วงดุลสำคัญต่อความพยายามของจีนในการขยายอิทธิพลในภูมิภาค ด้วยการเสริมกำลังกองทัพเรืออย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเข้าประจำการของเรือรบที่ต่อภายในประเทศสามลำล่าสุด และโครงการต่อเรือรบขนาดใหญ่อีกกว่า 60 ลำ

แม้จะมองว่ามหาสมุทรอินเดียเป็น “พื้นที่แห่งสันติภาพ” มาโดยตลอด แต่สถานการณ์ในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ พล.ร.ต. มอนตี คันนา ผู้เกษียณอายุราชการจากกองทัพเรืออินเดีย กล่าวในการเสวนาเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2568 ที่จัดโดยศูนย์สติมสัน ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยระบุว่า ปัจจัยที่บั่นทอนเสถียรภาพของภูมิภาค ได้แก่ ความพยายามของจีนในการเปลี่ยนแปลงสถานะเดิม และการโจมตีด้วยขีปนาวุธทิ้งตัวต่อต้านเรือรบในทะเลแดงโดยกลุ่มฮูตีที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน

โครงการเสริมกำลังกองเรือรบของอินเดียสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศในการเพิ่มขีดความสามารถทางทะเลท่ามกลางภัยคุกคามดังกล่าว

อินเดียกำลังก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางทะเลระดับโลก ด้วยการเข้าประจำการของเรือรบที่ต่อขึ้นในประเทศสามลำ ภายใต้การนำของนายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2568
วิดีโอจาก: นายกรัฐมนตรีอินเดีย/อะนาโดลู เอเจนซี/รอยเตอร์

การเข้าประจำการของเรือรบใหม่สามลำในเดือนมกราคม พ.ศ. 2568 แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมกลาโหมภายในประเทศ และการเพิ่มอำนาจของกองทัพเรืออินเดียในมหาสมุทรอินเดีย นายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย และนายราชนาถ ซิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินเดีย กล่าวในพิธีรับมอบเรือที่มุมไบ

ไอเอ็นเอส สุรัต เป็นเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถีลำที่สี่ของกองทัพเรืออินเดีย โดยติดตั้งระบบอาวุธและเซ็นเซอร์ที่ล้ำสมัย ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินเดีย ไอเอ็นเอส นิลคีรี เป็นเรือฟริเกตล่องหนชั้น พี17เอ ลำแรกของกองทัพเรืออินเดีย เรือลำนี้มีความสามารถในการเอาตัวรอดและการพรางตัวที่ได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงแนวทางการออกแบบเรือฟริเกตรุ่นใหม่ของอินเดีย ไอเอ็นเอส วาห์เชียร์ เป็นเรือดำน้ำจู่โจมดีเซลและไฟฟ้าชั้น พี75 สกอร์ปิเน่ ลำที่หกของกองทัพเรืออินเดีย ต่อขึ้นโดยความร่วมมือกับบริษัทต่อเรือของฝรั่งเศส

การขยายกองเรือรบของอินเดียดำเนินไปอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมถึงการเข้าประจำการของเรือไอเอ็นเอส วิกรันต์ ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินที่ต่อขึ้นภายในประเทศลำแรกของอินเดียใน พ.ศ. 2565 และเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ไอเอ็นเอส อารีฮันต์ และไอเอ็นเอส อารีกัต ซึ่งเข้าประจำการใน พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2567 ตามลำดับ แผนงานของอินเดียตั้งเป้าให้กองเรือรบมีขนาด 175 ลำภายใน พ.ศ. 2578 โดยให้ความสำคัญกับการใช้ชิ้นส่วนและเทคโนโลยีที่ผลิตภายในประเทศ

ในพิธีรับมอบเรือรบทั้งสามลำ นายโมทียกย่องกองทัพเรือและกองกำลังรักษาชายฝั่งว่าเป็นผู้รับมือด่านแรกของมหาสมุทรอินเดีย โดยมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและปกป้องเส้นทางเดินเรือระดับโลก

นายซิงห์กล่าวเสริมว่ามหาสมุทรอินเดียเป็นเส้นทางค้าที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเผชิญกับภัยคุกคามจากการลักลอบค้าอาวุธและยาเสพติด การค้ามนุษย์ การทำประมงผิดที่กฎหมาย และการก่อการร้าย “ในสถานการณ์เช่นนี้ การปรากฏตัวของกองทัพเรืออินเดียที่แข็งแกร่งในมหาสมุทรอินเดียจึงเป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญสูงสุด” นายซิงห์กล่าว

การที่จีนเร่งขยายขนาดกองเรือของตนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้รัฐบาลอินเดียต้องเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมเพื่อผลิตเรือรบให้เพียงพอต่อการป้องปรามความขัดแย้ง พล.ท. ราช ชุกลา ผู้เกษียณอายุราชการจากกองทัพบกอินเดีย กล่าว

รัฐบาลจีนได้สร้างฐานทัพทหารในจิบูตีบริเวณจะงอยแอฟริกาและขยายอิทธิพลผ่านท่าเรือสำคัญ เช่น ท่าเรือกวาดาร์ในปากีสถาน และท่าเรือฮัมบันโตตาในศรีลังกา รวมถึงการส่งเรือรบและเรือดำน้ำเพื่อปฏิบัติการรวบรวมข้อมูลข่าวกรองและภารกิจอื่น ๆ ในภูมิภาค ตามรายงานของข้อมูลวิเคราะห์โดยศูนย์สหรัฐอเมริกาศึกษาในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

พล.ท. ชุกลากล่าวว่า อินเดียต้องพัฒนายุทธวิธีต่อต้านการเข้าถึง/ต่อต้านการยึดครองพื้นที่ในมหาสมุทรอินเดียให้เร็วขึ้น พร้อมกับเสริมสร้างศักยภาพด้านการปฏิบัติการทางทะเลในช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ของการขนส่งสินค้าระดับโลก

“มีเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมอินเดียต้องเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมเพื่อชะลอการเสียเปรียบทางยุทธศาสตร์และการทหารที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับจีน ปรับปรุงขีดความสามารถของกองทัพ และเสริมสร้างจุดยืนของเราในภูมิภาคใกล้เคียง” พล.ท. ชุกลาเขียนในบทความเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ให้กับชานัคยา ฟอรัม ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของอินเดีย

มันดีป ซิงห์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button