ออสเตรเลียและญี่ปุ่นเสริมสร้างความมั่นคงผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยีแบบสองทาง

ปีเตอร์ พาร์สัน
ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ออสเตรเลียและญี่ปุ่นจึงเร่งกระชับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมและเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีแบบสองทาง ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สามารถใช้ได้ทั้งในภาคพลเรือนและการทหาร
“ความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างญี่ปุ่นและออสเตรเลีย รวมถึงการพัฒนาฐานอุตสาหกรรมกลาโหมของชาติพันธมิตร มีศักยภาพที่จะพัฒนาไปได้อีกมากผ่านการทดสอบเทคโนโลยีแบบสองทางและความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเอกชน” นายกาย โบเคนสไตน์ นักวิจัยอิสระจากศูนย์สหรัฐอเมริกาศึกษาที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ของออสเตรเลีย กล่าว
“ความร่วมมือในภาคส่วนเหล่านี้ไม่เพียงเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ แต่ยังช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และเสถียรภาพของภูมิภาค” นายโบเคนสไตน์กล่าวกับ ฟอรัม
ความมั่นคงทางไซเบอร์ เทคโนโลยีอวกาศ และระบบอัตโนมัติเป็นหนึ่งในหลายๆ สาขาที่รัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังใช้เพื่อสร้างประโยชน์
ความมั่นคงทางไซเบอร์ได้เป็นจุดสนใจของความร่วมมือมายาวนาน โดยทั้งสองประเทศได้จัดการเจรจานโยบายทางไซเบอร์ทั้งหมด 5 ครั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ที่โตเกียว และได้รับการเน้นย้ำอีกครั้งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 ในการประชุมครั้งที่ 11 ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นเวทีในการ “เสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงของข้อมูล รวมถึงการเจรจาเชิงลึกเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูลที่เป็นความลับ” ที่ประชุมยังได้เปิดตัวโครงการพัฒนาดิจิทัลภาคพื้นแปซิฟิกเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก โดยเน้นไปที่สายเคเบิลใต้ทะเล ศูนย์ข้อมูล และความมั่นคงทางไซเบอร์
ใน พ.ศ. 2567 กำลังพลจากออสเตรเลียและญี่ปุ่นได้ร่วมกับสหรัฐอเมริกาในการฝึกบลูสเปกตรัม ที่ซิดนีย์และอิจิกายะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามทางไซเบอร์แบบจำลอง
ในภาคเอกชน มีการกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ระหว่างออสเตรเลียและญี่ปุ่นเมื่อไม่นานมานี้ผ่านข้อตกลงระยะเวลาหลายปี เพื่อขยายการประกันภัยไซเบอร์ในออสเตรเลีย ความร่วมมือระหว่างโคอะลิชั่น อินชัวรันส์ โซลูชัน ของออสเตรเลีย และมิตซูอิ ซูมิโตโม อินชัวรันส์ ของญี่ปุ่นจะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
ความร่วมมือในด้านอวกาศก็มีการขยายตัวเช่นกัน โดยออสเตรเลียจะจัดหาสถานที่ลงจอดสำหรับภารกิจของญี่ปุ่นในการสำรวจดวงจันทร์บริวารของดาวอังคาร ซึ่งมีกำหนดการใน พ.ศ. 2569 และมุ่งหวังที่จะเก็บตัวอย่างจากโฟบอส หนึ่งในดวงจันทร์บริวารของดาวอังคาร ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 แคปซูลที่เดินทางกลับของยานอวกาศญี่ปุ่น ฮายาบุสะ 2 ลงจอดสำเร็จในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย หลังจากนั้นไม่กี่เดือน องค์การอวกาศแห่งออสเตรเลียและองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นได้ตกลงกระชับความร่วมมือกัน โดยมุ่งเน้นที่เทคโนโลยี การใช้งาน การศึกษา และการเผยแพร่สำหรับการสำรวจเพื่อสันติภาพ
โครงการริเริ่มด้านอวกาศในภาคเอกชนเป็นอีกหนึ่งด้านที่ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีแบบสองทางกำลังเติบโต ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 อาร์ลูลา ซึ่งเป็นธุรกิจเกิดใหม่ในซิดนีย์ ได้ประกาศข้อตกลงระยะเวลาหลายปีกับ เอ็นทีที เดต้า จากโตเกียวในการจัดการภาพถ่ายจากดาวเทียมและข้อมูลสำหรับรัฐบาลญี่ปุ่น
ในด้านระบบอัตโนมัติใต้ทะเล สำนักงานจัดซื้อจัดจ้าง เทคโนโลยี และการส่งกำลังบำรุงของญี่ปุ่น กับกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหมของออสเตรเลีย ได้ตกลงร่วมกันวิจัยในช่วงต้น พ.ศ. 2567 วัตถุประสงค์หลักคือการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารใต้ทะเลที่ใช้คลื่นเสียง ซึ่งช่วยให้การประสานงานระหว่างยานพาหนะไร้คนขับทำได้อย่างราบรื่น ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย
ในช่วงปลาย พ.ศ. 2566 ออสเตรเลียและญี่ปุ่นยังได้ตกลงที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาโดรนจู่โจมรุ่นใหม่ ตามรายงานของสำนักข่าวนิกเคอิเอเชียของญี่ปุ่น
การมุ่งเน้นที่เทคโนโลยีแบบสองทางทำให้ออสเตรเลียและญี่ปุ่น “สามารถส่งเสริมนวัตกรรมที่เสริมสร้างขีดความสามารถด้านกลาโหม พร้อมกันนั้นยังเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมพลเรือนของตนเองอีกด้วย” นายโบเคนสไตน์กล่าว
โดยชี้ให้เห็นว่า “การบูรณาการระหว่างภาคกลาโหมและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศจะมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด โดยเฉพาะในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก”
ปีเตอร์ พาร์สัน ผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในเมืองแฮมิลตัน ประเทศนิวซีแลนด์