ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดโอเชียเนีย

สหรัฐฯ พันธมิตร และหุ้นส่วนเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในหมู่เกาะแปซิฟิกผ่านข้อตกลงชิปไรเดอร์

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

เรือคัตเตอร์ มิดเจ็ตต์ ของกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐอเมริกาได้เดินทางเยือนออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และตูวาลู ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ภายใต้โครงการชิปไรเดอร์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศและดินแดนในอินโดแปซิฟิกเพื่อป้องปรามการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติด และเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคี นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้แลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ รวมถึงพัฒนาความสามารถในการปฏิบัติงานร่วมกัน

ข้อตกลงบังคับใช้กฎหมายทางทะเลแบบทวิภาคี หรือที่เรียกว่าชิปไรเดอร์ ได้ช่วยเหลือประเทศและดินแดนในแปซิฟิกในการยืนยันถึงอำนาจอธิปไตยและบริหารทรัพยากรทางทะเล โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นในอินโดแปซิฟิกเมื่อ พ.ศ. 2551 ที่หมู่เกาะคุก โดยมีเป้าหมายในการต่อต้านพฤติกรรมที่บ่อนทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การค้า และระบบนิเวศทางทะเลที่ยั่งยืน

โครงการดังกล่าวแตกต่างจากความพยายามของจีนในการสร้างอิทธิพลในภูมิภาคแปซิฟิกและภูมิภาคอื่น ๆ เอกสารยุทธศาสตร์นโยบายกลาโหมของนิวซีแลนด์ที่ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2566 ระบุถึงความจำเป็นในการตระหนักถึงการดำเนินการของจีน โดยระบุว่า “จีนที่ทรงอำนาจมากขึ้นกำลังใช้ทุกเครื่องมือของอำนาจรัฐในลักษณะที่อาจท้าทายกฎและบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่มีอยู่” “รัฐบาลจีนยังคงลงทุนอย่างหนักในการเสริมสร้างและพัฒนากองทัพของตนให้ทันสมัย และมีศักยภาพเพิ่มขึ้น ในการแสดงแสนยานุภาพทางทหารและกองกำลังติดอาวุธออกไปไกลกว่าภูมิภาคใกล้เคียง รวมถึงทั่วอินโดแปซิฟิก”

เรือพยาบาลของรัฐบาลจีน พีซ อาร์ก และ ซิลค์ โรด อาร์ก ให้บริการทางการแพทย์และมีส่วนร่วมในโครงการแลกเปลี่ยนนานาชาติ ขณะที่กองทัพเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนปฏิบัติภารกิจคุ้มกันและต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัด ตามรายงานของนิตยสารเดอะดิโพลแมตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

อย่างไรก็ตาม บางภารกิจของจีนเกิดขึ้นในพื้นที่ที่รัฐบาลจีน “อาจพิจารณา” หรือ “ได้ดำเนินการติดต่อไว้แล้ว” เพื่อขอเข้าถึงฐานทัพทางทหาร ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 นอกจากนี้ยังมีการฝึกทางทหารร่วมในบางจุดหมายปลายทาง

“นอกเหนือจากการลงทุนขนาดใหญ่ในท่าเรือต่างประเทศ จีนยังใช้เป้าหมายด้านมนุษยธรรมและเศรษฐกิจเพื่อเสริมสร้างบทบาททางทะเลของตน รวมถึงการทูตทางการแพทย์ ภารกิจคุ้มกัน และเวทีความมั่นคง” ตามรายงานของเดอะดิโพลแมต

ปฏิบัติการทางทะเลของรัฐบาลจีนที่ดูเหมือนมีวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลครอบคลุมถึงประเทศในแอฟริกา แคริบเบียน เอเชียใต้ เช่น บังกลาเทศและศรีลังกา รวมถึงประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ได้แก่ คิริบาส หมู่เกาะโซโลมอน ติมอร์-เลสเต ตองงา และวานูอาตู ตามรายงานต่าง ๆ

การดำเนินงานของสหรัฐฯ ภายใต้โครงการชิปไรเดอร์แสดงถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกและส่งเสริมภูมิภาคที่มั่นคงและเจริญรุ่งเรือง โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก

ข้อตกลงบังคับใช้กฎหมายทางทะเลระหว่างกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ และพันธมิตร 12 ประเทศในอินโดแปซิฟิก เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ทหารและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายสามารถปฏิบัติการบนเรือของกันและกันภายในน่านน้ำของแต่ละประเทศ รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยสามารถสกัด ตรวจสอบ และควบคุมเรือที่ต้องสงสัยว่ามีกิจกรรมทางทะเลที่ผิดกฎหมาย เช่น การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ประเทศที่เข้าร่วม ได้แก่ หมู่เกาะคุก ฟิจิ คิริบาส หมู่เกาะมาร์แชลล์ ไมโครนีเซีย นาอูรู ปาเลา ปาปัวนิวกินี ซามัว ตองงา ตูวาลู และวานูอาตู

เรือคัตเตอร์ มิดเจ็ตต์ ซึ่งเป็นเรือขนาด 418 ฟุต ติดตั้งเทคโนโลยีล้ำสมัยและประจำการที่โฮโนลูลู รัฐฮาวาย ได้เริ่มภารกิจลาดตระเวนระยะยาวตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2568 เจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ กล่าวกับ ฟอรัม โดยที่ตูวาลู เจ้าหน้าที่ได้ขึ้นตรวจสอบเรือเพื่อให้มั่นใจว่าปฏิบัติตามกฎระเบียบ โดยร่วมมือกับตำรวจท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ประมง และผู้นำรัฐบาล “เราได้เรียนรู้จากกันและกันอย่างมาก และประสบการณ์ครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อปฏิบัติการในอนาคต” น.อ. แมทธิว รูนีย์ ผู้บังคับการเรือคัตเตอร์ กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์

ลูกเรือของเรือมิดเจ็ตต์จากกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ทำความเคารพต่อเรือแคนเทอร์เบอรีของกองทัพเรือนิวซีแลนด์ในอ่าวเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568
ภาพจาก: จ.ท. เจนนิเฟอร์ นิลสัน/กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ

ภารกิจยังได้นำสแกนอีเกิล ซึ่งเป็นอากาศยานไร้คนขับสำหรับลาดตระเวนและเฝ้าระวัง มาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการเฝ้าระวังทางทะเล

การเดินทางของเรือมิดเจ็ตต์ไปยังนิวซีแลนด์ยังช่วยเสริมสร้างข้อตกลงระหว่างกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ และกองทัพเรือนิวซีแลนด์ที่ลงนามเมื่อ พ.ศ. 2566 โดยมีทหารเรือนิวซีแลนด์สามนายร่วมเดินทางจากโฮโนลูลูไปยังแปซิฟิกใต้ ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนของทั้งสองประเทศ ขณะที่ในกรุงเวลลิงตัน เมืองหลวงของนิวซีแลนด์ ลูกเรือของเรือมิดเจ็ตต์ได้พบปะกับตัวแทนจากศูนย์ประสานงานกู้ภัยแห่งนิวซีแลนด์ กองตำรวจทางทะเล และประชาชนในพื้นที่

ต่อมา เรือมิดเจ็ตต์ได้แวะจอดที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ตามรายงานของรอยเตอร์ โดยขณะแล่นข้ามทะเลแทสมันที่คั่นระหว่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในเดือนกุมภาพันธ์ เรือรบของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ดำเนินการซ้อมยิงกระสุนจริงในพื้นที่ ทำให้สายการบินพาณิชย์ต้องเปลี่ยนเส้นทางบินถึง 49 เที่ยวบิน อย่างไรก็ตาม เรือมิดเจ็ตต์ไม่ได้เผชิญหน้ากับเรือรบจีน ตามรายงานของสำนักข่าวดังกล่าว “เรารับรู้ถึงการปรากฏตัวของพวกเขา” น.อ. รูนีย์กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ซิดนีย์ “แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อปฏิบัติการของเรา”

การฝึกซ้อมที่ไม่ได้มีการประกาศนี้เป็น “การแสดงแสนยานุภาพที่ไม่ปกติอย่างมากในพื้นที่ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ของจีน” นายดรูว์ ทอมป์สัน นักวิจัยอาวุโสจากวิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส. ราชารัตนัมแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์ กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะสเตรตส์ไทมส์ “การกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการบินพลเรือนและสร้างข้อกังขาอย่างมากต่อความน่าเชื่อถือของถ้อยแถลงและคำยืนยันของจีนที่ว่าไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและเสถียรภาพของทั้งภูมิภาคแปซิฟิก”

แสดงความคิดเห็นที่นี่

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button