ความร่วมมือโอเชียเนีย

สนธิสัญญาด้านกลาโหมช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับปาปัวนิวกินี

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ห้าสิบปีหลังจากปาปัวนิวกินีจัดตั้งกองทัพของตนเองขึ้นเมื่อได้รับเอกราชจากออสเตรเลีย กองกำลังของทั้งสองประเทศเตรียมเข้าประจำการร่วมกันภายใต้สนธิสัญญาป้องกันประเทศฉบับใหม่

สนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งสืบเนื่องจากข้อตกลงความมั่นคงทวิภาคีที่ลงนามใน พ.ศ. 2566 จะเสริมสร้างบนรากฐานของ “ประวัติศาสตร์และความใกล้ชิดอันเป็นเอกลักษณ์” ของทั้งสองชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของออสเตรเลียและปาปัวนิวกินีประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นนี้ “เกิดขึ้นจากความขัดแย้งในแปซิฟิก” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดร. บิลลี โจเซฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของปาปัวนิวกินี กล่าวในแถลงการณ์

นายริชาร์ด มาร์ลส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรองนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และ ดร. บิลลี โจเซฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมปาปัวนิวกินี ประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ว่าทั้งสองประเทศกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อจัดทำสนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วมกัน
“สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือ ท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์และการแข่งขันที่หลากหลาย … เราได้ตัดสินใจอย่างมีสติในการเลือกว่าควรมีใครเป็นมิตรของเราในด้านความมั่นคง” ดร. โจเซฟกล่าว “และเป็นเรื่องที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่ในช่วงครบรอบ 50 ปีของประเทศ เรากำลังมุ่งสู่การทำสนธิสัญญาความมั่นคงทวิภาคีกับออสเตรเลีย
“เราขอขอบคุณรองนายกรัฐมนตรีมาร์ลส์และรัฐบาลออสเตรเลียที่ได้นำการฝึกทาลิสมันเซเบอร์มาสู่ปาปัวนิวกินีเป็นครั้งแรก ซึ่งส่วนหนึ่งของการฝึกครั้งนี้จะจัดขึ้นบนแผ่นดินของเรา”
วิดีโอจาก: กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

รัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลปาปัวนิวกินีกำลังขยายความร่วมมือด้านกลาโหมและเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกัน ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค ส่วนหนึ่งเกิดจากความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการขยายอิทธิพลในแปซิฟิก ตัวอย่างของพฤติกรรมที่บ่อนทำลายเสถียรภาพของรัฐบาลจีน ได้แก่ ข้อตกลงความมั่นคงลับกับหมู่เกาะโซโลมอนเมื่อ พ.ศ. 2565 และการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงในทะเลแทสมันที่คั่นระหว่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เมื่อไม่นานมานี้

นายริชาร์ด มาร์ลส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย กล่าวถึงการซ้อมรบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ซึ่งมีเรือรบพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามลำเข้ามาในเขตเศรษฐกิจพิเศษของออสเตรเลียว่า แม้จะ “ไม่ใช่เหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ก็นับว่าเป็นเรื่องผิดปกติ” ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ภายใต้ข้อตกลงความมั่นคงที่ลงนามใน พ.ศ. 2566 ออสเตรเลียได้ลงทุน 4.38 พันล้านบาท (ประมาณ 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในโครงสร้างพื้นฐานและการฝึกอบรม เพื่อช่วยให้ปาปัวนิวกินีเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็น 10,000 นาย ขณะที่กองกำลังของทั้งสองประเทศมีการฝึกซ้อมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เช่น การฝึกโอลเกต้าวอร์ริเออร์ และการฝึกปุกปุก รวมถึงการสนับสนุนอากาศยานลำเลียงน้ำหนักเบาให้กับปาปัวนิวกินี

ทหารของกองทัพบกออสเตรเลียและกองทัพปาปัวนิวกินีเตรียมเข้าตรวจค้นอาคารระหว่างการฝึกวันตกวอร์ริเออร์ ที่เมืองเววัก ประเทศปาปัวนิวกินี ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567
ภาพจาก: กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

ใน พ.ศ. 2566 ทหารของปาปัวนิวกินีได้เข้าร่วมการฝึกทาลิสมันเซเบอร์ที่ออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพเป็นครั้งแรก ต่อมาในช่วงกลาง พ.ศ. 2568 ดร. โจเซฟและนายมาร์ลส์ประกาศว่าปาปัวนิวกินีจะเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกซ้อมบางส่วนของทาลิสมันเซเบอร์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่การฝึกซ้อมพหุภาคีนี้ขยายออกไปนอกออสเตรเลีย อีกหนึ่งก้าวสำคัญครั้งประวัติศาสตร์คือใน พ.ศ. 2567 มีการแต่งตั้งนายทหารของปาปัวนิวกินีให้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 3 ของกองทัพบกออสเตรเลีย

ไม่กี่วันหลังจากการประชุมของ ดร. โจเซฟและนายมาร์ลส์ที่บริสเบน เครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศออสเตรเลียได้แวะเติมเชื้อเพลิงที่พอร์ตมอร์สบี ระหว่างเดินทางไปยังภาคเหนือของออสเตรเลีย หลังจากเข้าร่วมการฝึกโคปนอร์ทที่เกาะกวมร่วมกับญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา นี่เป็นครั้งแรกที่เครื่องบิน เอฟ-35 ของกองทัพอากาศออสเตรเลียลงจอดในปาปัวนิวกินี ตามรายงานของหนังสือพิมพ์โพสต์เคอเรียร์ของปาปัวนิวกินี

นอกจากนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ นายเจมส์ มาราเป นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี ได้เปิดเผยแผนพัฒนากองทัพระยะเวลา 20 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงความทันสมัยให้กองกำลัง ซึ่งรวมถึง

  • การลงทุนในด้านการฝึกและยุทโธปกรณ์เพื่อสร้างกองกำลังภาคพื้นดินสามกองพัน และเพิ่มกำลังพลเป็น 5,000 ถึง 7,000 นาย
  • การจัดตั้งกองบินร่วมเพื่อสนับสนุนภารกิจบังคับใช้กฎหมาย การป้องกันประเทศ การรับมือภัยพิบัติ และโครงการเพื่อความมั่นคงแห่งชาติอื่น ๆ
  • การขยายขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์และการสนับสนุน เช่น วิศวกรรมและบริการทางการแพทย์ เพื่อลดการพึ่งพาผู้รับเหมาภาคเอกชน
  • การฝึกอบรมทางทหารสำหรับพลเรือนและการจัดตั้งกองกำลังสำรองเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน

“เราต้องสร้างกองทัพของเราให้เป็นหนึ่งในกองกำลังที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค” นายมาราเปกล่าว “กองทัพที่เข้มแข็งและมียุทโธปกรณ์ครบครันเป็นสิ่งจำเป็นในการปกป้องอำนาจอธิปไตยของเราและสร้างความมั่นคงให้กับชาติในโลกที่มีความซับซ้อนมากขึ้น”

ปาปัวนิวกินี ซึ่งอยู่ห่างจากออสเตรเลียเพียง 150 กิโลเมตร ผ่านช่องแคบทอร์เรส เคยอยู่ภายใต้การปกครองของออสเตรเลียเป็นเวลาหลายทศวรรษก่อนจะได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2518 กองทัพของปาปัวนิวกินีก่อตั้งขึ้นโดยการรวมกำลังพลจากกองทัพออสเตรเลียและกองพันหมู่เกาะแปซิฟิก ห้าสิบปีให้หลัง สนธิสัญญาป้องกันประเทศฉบับใหม่มีเป้าหมายเพื่อ “อำนวยความสะดวกให้ออสเตรเลียและปาปัวนิวกินีสามารถสนับสนุนซึ่งกันและกันในด้านความมั่นคง และมีส่วนร่วมต่อเสถียรภาพโดยรวมของภูมิภาค” ดร. โจเซฟและนายมาร์ลส์กล่าว

“ความใกล้ชิดและความเคารพระหว่างกองกำลังของทั้งสองประเทศเกิดขึ้นจากการยืนหยัดเคียงข้างกันในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดของสงครามโลกครั้งที่สอง” ทั้งคู่กล่าวเสริม “แม้ว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 50 ปีนับตั้งแต่ได้รับเอกราช แต่สายสัมพันธ์ด้านกลาโหมอันเป็นเอกลักษณ์ของเรากลับแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม”

แสดงความคิดเห็นที่นี่

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button