รายงานระบุว่าจีนเป็นตัวการหลักของความเสียหายต่อถิ่นที่อยู่อาศัยทางทะเลในทะเลจีนใต้

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
นักวิจัยระบุว่าการถมเกาะเทียมของจีนก่อให้เกิดความเสียหายต่อถิ่นที่อยู่อาศัยทางทะเลในทะเลจีนใต้ถึงประมาณสองในสามของความเสียหายทั้งหมดที่เกิดจากการขุดลอกและถมทะเล
ตั้งแต่ พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา จีนได้ถมแนวปะการังเป็นพื้นที่มากกว่า 4,600 เอเคอร์ (ประมาณ 19 ตารางกิโลเมตร) ตามรายงานของโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชียเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2568 โครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ได้วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมและพบว่าจีนเป็นผู้สร้างความเสียหายต่อแนวปะการังถึงร้อยละ 65 ของปะการังทั้งหมด 8,000 เอเคอร์ที่ได้รับความเสียหาย
รายงานระบุว่ากิจกรรมการสร้างเกาะเทียมเหล่านี้ “ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถแก้ไขได้และส่งผลกระทบระยะยาวต่อโครงสร้างและสุขภาพโดยรวมของแนวปะการัง”
วิดีโอจาก: กองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์
นักวิจัยของโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชียได้ศึกษาแนวปะการังที่ถูกทำลายโดยประเทศที่อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งรวมถึง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนาม และสรุปว่าจีนเป็นตัวการสำคัญของความเสียหาย จีนยังคงอ้างสิทธิ์ตามอำเภอใจเหนือเส้นทางน้ำยุทธศาสตร์แห่งนี้เกือบทั้งหมด โดยไม่สนคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศใน พ.ศ. 2559 ที่ตัดสินให้การอ้างสิทธิ์ดังกล่าวไม่มีผลทางกฎหมาย
ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ภายใต้ชื่อ “ร่องรอยแห่งท้องทะเลลึก: ภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมในทะเลจีนใต้” โครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชียอธิบายถึงวิธีการขุดลอกของจีนว่า “เรือขุดลอกแบบดูดดินจะแล่นเข้าไปในแนวปะการังแล้วสูบตะกอนผ่านท่อส่งลอยน้ำไปยังพื้นที่น้ำตื้นเพื่อใช้ถมทะเล กระบวนการนี้ทำให้แนวพื้นทะเลปั่นป่วน ก่อให้เกิดตะกอนหยาบแขวนลอยซึ่งคร่าชีวิตสัตว์น้ำที่อยู่ใกล้เคียง อีกทั้งยังทำให้แนวปะการังไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้อีกด้วย”
นอกจากนี้ เรือของจีนที่เก็บเกี่ยวหอยมือเสือยักษ์ได้สร้างความเสียหายต่อแนวปะการังเป็นพื้นที่ถึง 16,353 เอเคอร์ (ประมาณ 66 ตารางกิโลเมตร) โดยเปลือกหอยเหล่านี้ถูกนำไปแกะสลักและจำหน่ายเป็นเครื่องประดับหรือรูปปั้นในจีน รายงานระบุว่า ชาวประมงจีนยังใช้วิธีที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง โดยใช้วิธี “ลากใบพัดทองเหลืองที่ออกแบบเป็นพิเศษ” เพื่อขูดผิวแนวปะการังออก “เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวหอยมือเสือทั้งที่มีชีวิตและตายแล้วที่ติดมากับปะการังได้”
รายงานฉบับล่าสุดนี้ออกมาในช่วงที่ฟิลิปปินส์กำลังพิจารณายื่นฟ้องคดีอนุญาโตตุลาการใหม่ต่อจีน ในฐานที่ทำการละเมิดอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลฟิลิปปินส์ซึ่งเคยเป็นฝ่ายริเริ่มคดีที่นำไปสู่คำตัดสินของศาลใน พ.ศ. 2559 หวังว่าประเทศอื่น ๆ จะเข้าร่วมในกระบวนการนี้เพื่อให้กลายเป็นกระบวนการแบบพหุภาคี
คำตัดสินใน พ.ศ. 2559 ระบุว่าจีนละเมิดอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลทั้งหมด 6 ข้อจากการสร้างเกาะเทียมบนแนวปะการัง 7 แห่ง รวมถึงภาระหน้าที่ในการปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ลดและควบคุมมลพิษ และร่วมมือกันบริหารทรัพยากรชีวภาพทางทะเล
คดีใหม่ต่อจีนภายใต้กระบวนการอนุญาโตตุลาการของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลอาจรวมถึงข้อกล่าวหาด้านสิ่งแวดล้อมที่คล้ายกับกรณีก่อนหน้านี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์เคยเรียกร้องให้มีการสอบสวนระดับนานาชาติเกี่ยวกับความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเก็บเกี่ยวหอยมือเสือบริเวณแนวปะการังในทะเลจีนใต้
รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังสามารถยื่นขอให้สหประชาชาติออกมติที่ไม่มีผลผูกพัน และส่งเรื่องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศออกความเห็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับกรณีนี้ นายเกรกอรี บี. โพลิง ผู้อำนวยการผู้อำนวยการโครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชีย เขียนในรายงานของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์
ในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 “รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้รวบรวมเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกว่า 20 ประเทศ ‘เพื่อส่งสัญญาณไปยังจีน’ ว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่ได้โดดเดี่ยวในข้อพิพาททะเลจีนใต้” นายโพลิงเขียน “ตัวเลือกทางกฎหมายและการทูตเหล่านี้สามารถเสริมสร้างซึ่งกันและกัน ที่จริงแล้ว การใช้สหประชาชาติให้มากขึ้นจะช่วยขยายทางเลือกของรัฐบาลฟิลิปปินส์ในการดำเนินคดีอนุญาโตตุลาการ”