พันธมิตรและหุ้นส่วนขยายการฝึกซ้อมทางอากาศที่ซับซ้อนทั่วภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
การฝึกซ้อมทางอากาศขั้นสูงช่วยยกระดับขีดความสามารถในการทำงานร่วมกัน และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
การฝึกโคปนอร์ท พ.ศ. 2568 ซึ่งจัดขึ้นที่กวม เป็นการฝึกซ้อมพหุภาคีครั้งใหญ่ที่สุดของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ประจำภาคพื้นแปซิฟิก โดยมีเจ้าหน้าที่มากกว่า 2,300 นายจากออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีอากาศยานกว่า 80 ลำเข้าร่วมปฏิบัติการ ตั้งแต่เครื่องบินขับไล่ เครื่องบินบัญชาการและควบคุม เครื่องบินลำเลียง เครื่องบินเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ และเฮลิคอปเตอร์ ตามรายงานของนิตยสารกองกำลังอากาศและกองกำลังอวกาศ
การฝึกซ้อมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 ของพันธมิตรได้เข้าร่วมการฝึกซ้อมร่วมกัน หลังจากการประชุมสุดยอดด้านกลาโหมในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 โดยทั้งสามประเทศได้ตกลงที่จะแลกเปลี่ยนเทคนิคและยุทธวิธีในระหว่างการฝึกซ้อมพหุภาคีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการฝึกบูชิโดการ์เดียนของญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2568 และการฝึกพิตช์แบล็กของออสเตรเลียใน พ.ศ. 2569
วิดีโอจาก: จ.ต. โทมัส ฮันส์ฟอร์ด/จ.อ. คาเลบ โรแลนด์/กองทัพอากาศสหรัฐฯ
“การฝึกซ้อมนี้เน้นที่ขีดความสามารถของปฏิบัติการทางอากาศรุ่นที่ห้า และการบูรณาการกำลังรบทั้งหมดเข้าด้วยกันภายใต้สถานการณ์ที่สมจริงและซับซ้อน” น.อ. ดาร์ริล พอร์เตอร์ จากกองทัพอากาศออสเตรเลีย กล่าว
พ.อ. ทาเคชิ โอคุโบะ จากกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่น กล่าวระหว่างพิธีเปิดการฝึกว่า “การฝึกซ้อมนี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างเสริมแนวคิดอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” “เราฝึกซ้อมร่วมกันและต่อสู้เคียงข้างกัน และด้วยความร่วมมือของเรา เราจึงเป็นกำลังสำคัญในการป้องปรามความขัดแย้งได้”
สหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนได้จัดการฝึกโคปนอร์ทมานานกว่า 45 ปี โดยมุ่งเน้นการฝึกซ้อมรบที่สมจริงเพื่อเสริมสร้างความพร้อมสำหรับปฏิบัติการทางอากาศและอวกาศ ตามรายงานของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ประจำภาคพื้นแปซิฟิก

ภาพจาก: จ.ต. ทาลา ฮันท์/กองทัพอากาศสหรัฐฯ
ในขณะเดียวกัน กองทัพอากาศสาธารณรัฐเกาหลีและกองทัพอากาศสหรัฐฯ ร่วมกับนาวิกโยธินสหรัฐฯ ได้ปฏิบัติการบินเหนือคาบสมุทรเกาหลีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 โดยใช้อากาศยาน เช่น เอฟ-35 เครื่องบินทิ้งระเบิด บี-1บี และเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 การฝึกซ้อมครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของพันธมิตรในการโจมตีเป้าหมาย และการประสานงานในสถานการณ์ที่มีการสู้รบ
“การฝึกซ้อมขั้นสูงเช่นนี้ … ช่วยให้เรารักษาความพร้อมรบในระดับสูงที่จำเป็นต่อจุดยืนด้านกลาโหมร่วมกันของเรา” พล.อ.ท. เดวิด ไอเวอร์สัน จากกองทัพอากาศสหรัฐฯ กล่าว “ทุกครั้งที่นักบินของเราวางแผน ปฏิบัติการ และทบทวนการฝึกซ้อมร่วมกัน เราจะเสริมสร้างความชำนาญด้านยุทธวิธี เทคนิค และกระบวนการต่าง ๆ เพื่อปกป้องพันธมิตรของเราในยามจำเป็น”
การฝึกซ้อมดังกล่าวเป็นการแสดงศักยภาพของพันธมิตรในการป้องปรามภัยคุกคามจากนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ระบุ
ทั้งเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ได้ขยายการฝึกซ้อมทางทหาร และเริ่มการฝึกซ้อมไตรภาคีกับกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นเพื่อตอบโต้การยั่วยุของรัฐบาลเกาหลีเหนือ โดยการฝึกซ้อมร่วมเหล่านี้มีการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ล้ำสมัยมากขึ้น รวมถึงเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกล เรือบรรทุกเครื่องบิน เรือดำน้ำ และระบบอาวุธขั้นสูงอื่น ๆ
กองทัพอากาศอินโดนีเซียและกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิทางอากาศฮาวายได้จัดการฝึกเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศที่เมืองเดนปาซาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการฝึกซ้อมที่ซับซ้อนและมีความร่วมมือเพิ่มขึ้น การฝึกครั้งนี้สนับสนุนข้อกำหนดการรับรองความพร้อมของเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกันและความมั่นคงในภูมิภาค
“สำหรับหลาย ๆ คน ภารกิจนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ แต่ยังเป็นเรื่องของความไว้วางใจ ความสามารถในการปรับตัว และการสร้างรากฐานสำหรับความร่วมมือในอนาคต” น.ท. อลิสัน โบว์แมน นักบินประจำฝูงบินเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศจากกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิทางอากาศสหรัฐฯ กล่าว
พ.ท. ริปโด อูโตโม ผู้วางแผนการฝึกของกองทัพอากาศอินโดนีเซีย กล่าวว่าเขารู้สึกซาบซึ้งต่อความร่วมมือนี้ “โอกาสนี้ไม่เพียงช่วยเสริมสร้างความพร้อมในการปฏิบัติการของเราเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เรามีศักยภาพในการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดนของเราอีกด้วย”