ความพยายามร่วมของกองทัพและพลเรือนทำให้กลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งถึงจุดสิ้นสุด

มาเรีย ที. เรเยส
เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์กล่าวว่า ความพยายามร่วมกันระหว่างรัฐบาลและองค์กรภาคพลเรือน รวมถึง “การปฏิบัติการทางทหารอย่างไม่ลดละ” ได้ผลักดันให้กลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งถึงจุดใกล้ล่มสลาย
กลุ่มอาบูไซยาฟเคยปฏิบัติการในพื้นที่ภาคใต้ของฟิลิปปินส์มายาวนาน ซึ่งได้แก่ มินดาเนาและหมู่เกาะซูลู โดยเริ่มแรกกลุ่มนี้มีความเชื่อมโยงกับอัลกออิดะห์ และต่อมาผูกพันกับกลุ่มรัฐอิสลาม กลุ่มนี้ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น การระเบิดเรือซูเปอร์เฟอรี่ 14 ใน พ.ศ. 2547 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 116 คน และการลักพาตัวผู้ที่มีชื่อเสียงเพื่อเรียกค่าไถ่ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการประหารชีวิตอย่างโหดเหี้ยม นอกจากนี้ยังมีการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการเรียกรับสินบน โดยที่กลุ่มนี้มักปะทะกับกองทัพฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความพยายามร่วมกัน รวมถึงการตายของผู้นำหลายคนของอาบูไซยาฟและการหลบหนีของสมาชิกกลุ่ม ทำให้กลุ่มนี้กำลังเผชิญกับการล่มสลาย ตามรายงานของกองทัพบกฟิลิปปินส์ จากครั้งหนึ่งที่เคยเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่ง ซูลูได้รับการประกาศว่าปราศจากอิทธิพลของกลุ่มอาบูไซยาฟแล้วในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ด้วยความช่วยเหลือของกองทัพ ซึ่งได้ส่งทหารเกือบ 5,000 นายไปยังจังหวัดนี้
“การปฏิบัติการทางทหารอย่างไม่ลดละของกองทัพบกฟิลิปปินส์และการบูรณาการโครงการเพื่อสังคมอย่างมีกลยุทธ์ได้ทำให้ศักยภาพในการปฏิบัติการของกลุ่มอาบูไซยาฟอ่อนแอลงอย่างมาก” โฆษกของกองทัพบกกล่าวกับ ฟอรัม “การจัดตั้งกองพลทหารราบที่ 11 ใน พ.ศ. 2561 ทำให้กองทัพมีสถานะประจำการในซูลูอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้สามารถดำเนินปฏิบัติการที่ขับเคลื่อนด้วยข่าวกรอง เพื่อลดบทบาทของบุคคลสำคัญในกลุ่มอาบูไซยาฟและทำลายฐานที่มั่นของกลุ่มดังกล่าว”
การแบ่งปันข้อมูลข่าวสารระหว่างหน่วยทหาร ตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ และพันธมิตร เช่น สหรัฐอเมริกา ได้เสริมสร้างความสามารถในการติดตามสมาชิกกลุ่มอาบูไซยาฟ
“กลุ่มข่าวกรองร่วมนี้ได้ดำเนินการเฝ้าระวังหลายแหล่งที่เปิดเผยระบบการสนับสนุนทางโลจิสติกส์และระบุตำแหน่งที่ซ่อนตัวของผู้ก่อการร้าย” โฆษกกล่าว “แนวทางเชิงรุกนี้ได้ขัดขวางการรวมตัวใหม่ของกลุ่มอาบูไซยาฟอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถรักษาความมั่นคงในภูมิภาคได้อย่างต่อเนื่อง”
กองทัพยังได้สรรหาสมาชิกจากกลุ่มชาติพันธุ์ทาวซูกในพื้นที่เข้าร่วมกองกำลังประจำการและหน่วยกองกำลังพลเรือนติดอาวุธตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างทหารและพลเรือน
“กลยุทธ์นี้ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการเก็บข้อมูลข่าวสารของท้องถิ่น เสริมสร้างความสัมพันธ์ในชุมชน และลดความสามารถของกลุ่มอาบูไซยาฟในการใช้ประโยชน์จากความเศร้าโศกในท้องถิ่น” โฆษกกล่าว
ในขณะเดียวกัน โครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหารได้ช่วยเพิ่มเสถียรภาพในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและลดอิทธิพลและการสรรหากำลังพลของกลุ่มอาบูไซยาฟ เช่น โครงการที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนกระตุ้นให้สมาชิกกลุ่มอาบูไซยาฟยอมสละอาวุธ เพื่อแลกกับการได้รับการสนับสนุนในการดำรงชีวิต
“แนวทางที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนของประเทศได้ส่งเสริมการประสานงานอย่างราบรื่นระหว่างกองกำลังรักษาความมั่นคง หน่วยงานข่าวกรอง และหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น พวกเขาได้แบ่งปันข้อมูลข่าวสารตามเวลาจริง ประสานงานปฏิบัติการทางทหาร และดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ขับเคลื่อนด้วยการบริหาร” โฆษกของกองทัพบกกล่าว
ความท้าทายที่ยังคงมีอยู่ เช่น การแพร่ขยายของอาวุธปืน ข้อพิพาททางชาติพันธุ์ และความเปราะบางทางเศรษฐกิจ แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการผสานการปฏิบัติการทางความมั่นคงกับการปฏิรูปและโครงการรัฐบาลที่แก้ไขสาเหตุที่แท้จริงของลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่ง กลยุทธ์ที่ครอบคลุมดังกล่าวเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันการฟื้นตัวของกลุ่มอาบูไซยาฟ และรับรองถึงความมั่นคงในระยะยาว ตามข้อมูลจากกองทัพบกฟิลิปปินส์
การก่อตั้งเขตปกครองตนเองบังซาโมโรในมินดาเนาที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ใน พ.ศ. 2562 ก็มีส่วนช่วยเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงเช่นกัน กลุ่มแบ่งแยกดินแดนมุสลิมโมโรที่เก่าแก่ที่สุดสองกลุ่ม ได้แก่ แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโรและแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร ได้สละอาวุธและหันมามีบทบาททางการเมืองในเขตปกครองตนเอง
ประเทศที่เผชิญกับภัยคุกคามจากการก่อความไม่สงบหรือลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่งสามารถ “ถอดบทเรียนได้จากฟิลิปปินส์” โฆษกกองทัพบกกล่าว โดยรวมถึงบทบาทสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชน เครือข่ายข่าวกรองที่เข้มแข็ง และโครงการฟื้นฟูผู้กลับคืนสู่สังคมอย่างยั่งยืน
มาเรีย ที. เรเยส เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์