การเฉลิมฉลองความร่วมมือด้านความมั่นคงในอินโดแปซิฟิกที่มีมานานหลายทศวรรษ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
ความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกกลายเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมสร้างและปรับปรุงความสัมพันธ์และขีดความสามารถด้านกลาโหม เนื่องจากการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคได้ทวีความเข้มข้นขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
นับตั้งแต่ก่อตั้งใน พ.ศ. 2490 กองบัญชาการสหรัฐอเมริกา ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกได้พยายามสร้างพันธมิตรและความร่วมมือที่ยั่งยืนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกองกำลังในภูมิภาคและรักษาสันติภาพ วารสาร ฟอรัม ได้บันทึกความร่วมมือด้านความมั่นคงนี้ตั้งแต่เปิดตัวใน พ.ศ. 2518
สหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะรักษาความมั่นคงในภูมิภาคผ่านความสัมพันธ์เหล่านี้ และโดยการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ การประจำการของกองกำลังสหรัฐฯ ซึ่งยังคงดำเนินต่อหลังจากสงครามเย็น ได้ช่วยยับยั้งการเผชิญหน้าทางทหารในจุดที่เป็นจุดเสี่ยง เช่น คาบสมุทรเกาหลี ไต้หวัน และทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ นักวิเคราะห์กล่าว
กองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกใช้แนวทางที่ครอบคลุมในด้านความร่วมมือด้านความมั่นคง ซึ่งรวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ โครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินการร่วมกับกองกำลังและสถาบันของหุ้นส่วน เช่น การฝึกซ้อม การฝึกอบรม ความร่วมมือด้านอาวุธ การแบ่งปันข้อมูล และการขายอาวุธ
ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติเป็นเสาหลักของความร่วมมือด้านความมั่นคงนี้ ในบันทึกการรายงานเบื้องต้นของ ฟอรัม ได้ระบุว่าหลังจากพายุไต้ฝุ่นโอลก้าถล่มฟิลิปปินส์ใน พ.ศ. 2519 บุคลากรกองทัพสหรัฐฯ ได้อพยพผู้คนมากกว่า 1,900 คน และนำส่งเสบียงบรรเทาภัยพิบัติกว่า 370,000 ปอนด์ รวมถึงน้ำมัน 9,340 แกลลอน ภารกิจให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกได้ขยายตัวขึ้น โดยกองกำลังสหรัฐฯ ได้รับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติมากกว่า 45 ครั้งใน 17 ประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา
กองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกยังได้ให้โอกาสในการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อช่วยเพิ่มทักษะทางวิชาชีพให้กับบุคลากรของกองกำลังพันธมิตร ตัวอย่างเช่น ใน พ.ศ. 2565 กองทัพบกสหรัฐฯ ได้ก่อตั้งศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิก เพื่อให้กองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตรและหุ้นส่วนของตนสามารถแสดงให้เห็นถึงกองกำลังที่มีความน่าเชื่อถือในการรบในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและพื้นที่อื่น ๆ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทางการทหารของสหรัฐฯ ศูนย์หมุนเวียนพหุชาติร่วมแปซิฟิกจึงมีผู้เข้าร่วมและผู้สังเกตการณ์จากประเทศต่าง ๆ มากมาย ซึ่งรวมถึงออสเตรเลีย บังกลาเทศ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย มองโกเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทย และสหราชอาณาจักร
กองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนของตนได้ดำเนินการฝึกซ้อมขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นประจำหลายร้อยครั้ง เพื่อเสริมการฝึกอบรมและสร้างความสามารถในการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีการฝึกซ้อมหลายครั้งที่กลายเป็นลักษณะพหุภาคีมากขึ้น เนื่องจากการยกระดับการอ้างสิทธิ์ในดินแดนและกิจกรรมที่ก้าวร้าวของจีน โดยเฉพาะในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ซึ่งก่อให้เกิดความท้าทายใหม่ด้านความมั่นคง
สหรัฐฯ พร้อมด้วยพันธมิตรและหุ้นส่วนของตนได้สร้างมาตรการด้านความมั่นคงเพื่อรับมือกับการรุกรานดังกล่าวและเสริมสร้างความร่วมมือ เช่น การเป็นพันธมิตรจตุภาคี หรือ ควอด ระหว่างออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ รวมถึงการเจรจาทางยุทธศาสตร์ระหว่างออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ การประชุมขนาดเล็กเหล่านี้ช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการแข่งขันทางยุทธศาสตร์
ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังสนับสนุนสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ในการกำหนดความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคนอกเหนือจาก 10 ประเทศสมาชิกของสมาคม ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา อาเซียนได้สร้างเวทีการประชุมต่าง ๆ เช่น การประชุมระดับภูมิภาคอาเซียน การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมของอาเซียน และการประชุมอาเซียนว่าด้วยประเด็นทางทะเลแบบขยาย เพื่อส่งเสริมการสนทนากับมหาอำนาจในภูมิภาคและอำนวยความสะดวกในการบูรณาการทางเศรษฐกิจและความร่วมมือด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่
ในอนาคต กองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกมุ่งหวังที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับพันธมิตรและคู่ค้าต่อไป เพื่อรักษาสันติภาพในภูมิภาคและบรรลุวิสัยทัศน์ร่วมของโลกที่มีความเป็นอิสระ เปิดกว้าง ปลอดภัย และเจริญรุ่งเรือง