การฝึกคอบร้าโกลด์เสริมสร้างความร่วมมือพหุภาคีในอินโดแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
กำลังพลมากกว่า 8,200 นายจาก 30 ประเทศเข้าร่วมการฝึกคอบร้าโกลด์ครั้งที่ 44 ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย โดยมีไทยและสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ
กำลังพลหลักจากอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ได้เข้าร่วมการฝึกนี้ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึง 7 มีนาคม พ.ศ. 2568 เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรและหุ้นส่วน ตลอดจนส่งเสริมพันธกรณีด้านความมั่นคงในระดับภูมิภาค
VIDEO CREDIT: SENIOR AIRMAN AKEEM CAMPBELL/U.S. AIR FORCE
“คอบร้าโกลด์เป็นการฝึกซ้อมทางทหารระดับนานาชาติที่ดำเนินมาอย่างยาวนานที่สุดในโลก” นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าว
“การฝึกนี้เป็นเครื่องยืนยันถึงความเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่ยั่งยืน และเป็นเสาหลักของพันธกรณีของเราต่อภูมิภาค” นายโกเดคกล่าว “คอบร้าโกลด์ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการทำงานร่วมกัน ขับเคลื่อนผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นการแสดงออกถึงคำมั่นสัญญาที่ต่อเนื่องของเราต่อพันธมิตรและหุ้นส่วนในการร่วมมือกันเพื่อรับรองถึงภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง”
พล.อ. ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทย พร้อมด้วยผู้แทนจากประเทศที่เข้าร่วมการฝึก ได้เข้าร่วมพิธีเปิด ตามรายงานของสำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย
“คอบร้าโกลด์เป็นสิ่งที่หมายถึงความร่วมมือของเรา” พล.อ. โรนัลด์ พี. คลาร์ก ผู้บัญชาการกองทัพบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก กล่าว “ความร่วมมือที่ดำรงอยู่ในระยะยาวและจำเป็นต้องมีการลงทุนลงแรง”
“เรามีเป้าหมายเดียวกันในภูมิภาคนี้ นั่นคือการป้องกันสงครามด้วยการรักษาความพร้อมร่วมกัน” พล.อ. คลาร์กกล่าว “การป้องกันสงครามต้องอาศัยความพยายามหลายประการ ดังนั้นต้องขอขอบคุณประเทศไทยที่ได้ทุ่มเทความพยายามในปีนี้สำหรับการฝึกคอบร้าโกลด์ครั้งที่ 44”
การฝึกซ้อมประกอบด้วยการฝึกบังคับบัญชาและควบคุม การฝึกภาคสนามขนาดใหญ่ การยกพลขึ้นบก และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เช่น การบรรเทาภัยพิบัติและโครงการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังเน้นการป้องกันทางไซเบอร์ ปฏิบัติการด้านอวกาศ และยุทธวิธีต่อต้านโดรน เป็นครั้งแรกของการฝึกคอบร้าโกลด์ที่ทหารไทยและสหรัฐฯ ได้ร่วมกันทดสอบการยิงขีปนาวุธสติงเกอร์แบบภาคพื้นสู่อากาศจริง ตามรายงานของหนังสือพิมพ์สตาร์สแอนด์สไตรป์สll

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส
คอบร้าโกลด์แสดงให้เห็นถึง “ลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปของสงครามสมัยใหม่” ร.อ. เจนนิเฟอร์ เมสซินา โฆษกกองพลทหารราบที่ 7 ของกองทัพบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก กล่าวกับสตาร์สแอนด์สไตรป์ส
หนึ่งในกิจกรรมสำคัญของการฝึกครั้งนี้คือ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกองพลรบพิเศษที่ 1 ของกองทัพบกไทยและหน่วยปฏิบัติการพิเศษสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก ผ่านโครงการแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่จัดขึ้นก่อนเริ่มการฝึก
“การมีโครงการแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในฐานะส่วนหนึ่งของคอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2568 แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของผู้นำไทยและสหรัฐฯ ต่อสงครามทางความคิด” พ.อ. สก็อตต์ มาโลน ผู้เกษียณอายุราชการและเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของมหาวิทยาลัยปฏิบัติการพิเศษร่วม กล่าว โครงการแลกเปลี่ยนดังกล่าวจัดโดยมหาวิทยาลัยปฏิบัติการพิเศษร่วม และมีส่วนช่วยเสริมสร้างแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศผ่านการสนทนาและการสาธิตในภาคปฏิบัติ
นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมเกี่ยวกับการต่อต้านองค์กรอาชญากรรม โดยเฉพาะกลุ่มที่ดำเนินการหลอกลวงทางออนไลน์จากเมียนมาใกล้ชายแดนไทยซึ่งมักมีการบังคับใช้แรงงาน ตามรายงานของนิกเคอิเอเชีย
ขณะเดียวกัน กองทัพบกไทยและกองทัพบกสหรัฐฯ ได้ร่วมมือกันก่อสร้างโรงเรียนบ้านซับเต่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจด้านมนุษยธรรมที่ช่วยเสริมสร้างสายสัมพันธ์และความเคารพซึ่งกันและกัน ภารกิจนี้มีกำลังพลจากกองทัพอินเดียเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย ซึ่งสะท้อนถึงคำขวัญที่ได้ยินบ่อยครั้งในการฝึก ซึ่งกล่าวไว้ว่า “ร่วมกัน เราแข็งแกร่งขึ้น”