โครงการริเริ่มด้านอวกาศของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ

กองบัญชาการระบบอวกาศสหรัฐฯ
อุปกรณ์สำรวจขอบเขตในการเฝ้าระวังทางอวกาศของสหรัฐอเมริกาที่ติดตั้งบนดาวเทียมควอซี-เซนิธ 6 ของญี่ปุ่นปล่อยตัวได้สำเร็จจากจรวดเอช3 ของญี่ปุ่นที่ศูนย์อวกาศทาเนกาชิมะในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ซึ่งถือเป็นโครงการริเริ่มด้านอวกาศระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติโครงการแรก และเป็นการปล่อยดาวเทียมครั้งแรกจากทั้งหมดสองครั้งในโครงการอุปกรณ์สำรวจที่ติดตั้งบนระบบดาวเทียมควอซี-เซนิธ ขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น
ดาวเทียมนี้จะอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยปฏิบัติการมิสชั่น เดลต้า 2 ของหน่วยบัญชาการปฏิบัติการอวกาศสหรัฐฯ ซึ่งปฏิบัติภารกิจด้านขอบเขตในการเฝ้าระวังทางอวกาศเพื่อระบุ วิเคราะห์ และใช้ประโยชน์จากโอกาสต่าง ๆ รวมถึงลดช่องโหว่ในขอบเขตอวกาศในนามของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ และกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ดาวเทียมจะส่งข้อมูลไปยังเครือข่ายเฝ้าระวังอวกาศ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับวงโคจรค้างฟ้าเหนือภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
“การปล่อยตัวครั้งนี้ถือเป็นก้าวสําคัญทางประวัติศาสตร์สำหรับพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น” พ.อ. ไบรอน แม็คเคลน จากกองทัพอวกาศสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารโครงการสำหรับขอบเขตในการเฝ้าระวังทางอวกาศและกำลังรบของกองบัญชาการระบบอวกาศ กล่าว “ในขอบเขตอวกาศที่มีการแข่งขันสูงขึ้น การสนับสนุนของญี่ปุ่นต่อยุทธศาสตร์การป้องปรามของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เป็นกุญแจสำคัญทั้งในปัจจุบันและอนาคตในการเฝ้าระวังและการปฏิบัติการของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก เราตั้งตารอที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่นต่อไปในด้านการปรับปรุงความทันสมัยด้านอวกาศ การแบ่งปันข้อมูล การสื่อสารผ่านดาวเทียม และอื่น ๆ”
เซ็นเซอร์จะช่วยผสานขอบเขตในการเฝ้าระวังทางอวกาศจากทั้งระบบอวกาศและภาคพื้นดิน เพื่อเสริมสร้างการป้องกันร่วมในทุกมิติ โดยร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาค ตามรายงานของ พ.อ. ราจ อากราวาล ผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการมิชชั่น เดลต้า 2 จากกองทัพอวกาศสหรัฐฯ
พ.อ.อ. แจ็กเกอลีน โซเว ผู้นำระดับสูงด้านการทหารของกองบัญชาการระบบอวกาศ ที่เข้าร่วมการปล่อยตัวที่ศูนย์อวกาศญี่ปุ่น กล่าวว่า “ภารกิจนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เราสามารถทำร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนได้”
ทีมจากกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ห้องปฏิบัติการลินคอล์นของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ สำนักนโยบายอวกาศแห่งชาติญี่ปุ่น และมิตซูบิชิ อิเล็กทริก คอร์ปอเรชั่น ได้ทำงานร่วมกันในช่วงสองปีที่ผ่านมาเพื่อผสานรวมและทดสอบอุปกรณ์สำรวจตัวแรกควบคู่ไปกับดาวเทียมบรรทุก
อุปกรณ์สำรวจของสหรัฐฯ ออกแบบและสร้างโดยห้องปฏิบัติการของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ที่เลกซิงตัน แมสซาชูเซตส์ และมิตซูบิชิ อิเล็กทริกได้ออกแบบและสร้างดาวเทียมบรรทุกที่คามาคุระ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลกของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนั้น อุปกรณ์สำรวจที่ติดตั้งบนระบบดาวเทียมควอซี-เซนิธใช้ศูนย์ปฏิบัติการอวกาศหลายภารกิจ/ศูนย์บัญชาการและควบคุม ชรีเวอร์ในรัฐโคโลราโด
“องค์ประกอบสำคัญในการรับรองความสำเร็จของภารกิจอุปกรณ์สำรวจที่ติดตั้งบนระบบดาวเทียมควอซี-เซนิธคือโครงสร้างพื้นฐานบนพื้นดิน” พ.อ. โจ ร็อธ จากกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ผู้อำนวยการหน่วยจัดซื้อด้านนวัตกรรมและการพัฒนาต้นแบบของกองบัญชาการระบบอวกาศ กล่าว “การทำให้โครงสร้างพื้นดินมีประสิทธิภาพเหนือความคาดหมายจะช่วยเปิดทางสำหรับโอกาสในการทำงานร่วมกันที่ประสบความสำเร็จต่อไปกับ … พันธมิตรของเรา”
ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสำนักนโยบายอวกาศแห่งชาติและกองทัพอวกาศสหรัฐฯ เกิดขึ้นจากข้อตกลงใน พ.ศ. 2563 เพื่อดำเนินโครงการอุปกรณ์สำรวจที่ติดตั้งบนระบบดาวเทียมควอซี-เซนิธร่วมกัน อุปกรณ์สำรวจตัวที่สองของภารกิจจะปล่อยตัวในช่วงต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2569
กองบัญชาการระบบอวกาศมีหน้าที่จัดหา พัฒนา และส่งมอบขีดความสามารถที่แข็งแกร่งเพื่อปกป้องข้อได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศทั้งในอวกาศ จากอวกาศ และสู่อวกาศ โดยมีงบประมาณการจัดซื้อด้านอวกาศจำนวน 5.31 แสนล้านบาท (ประมาณ 1.56 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ พร้อมทั้งหุ้นส่วนและกองกำลังร่วม อุตสาหกรรม หน่วยงานรัฐบาล สถาบันการศึกษา และองค์กรพันธมิตรเพื่อเอาชนะภัยคุกคามที่เกิดขึ้นใหม่
หน่วยบัญชาการปฏิบัติการอวกาศมุ่งเน้นการสร้างกองกำลังอวกาศที่พร้อมรบ การจัดหาและสนับสนุนกองกำลังสำหรับภารกิจและกองบัญชาการรบ และผลักดันขีดความสามารถด้านอวกาศที่พร้อมรบ