อินโดนีเซียเสริมการป้องกันทางทะเลด้วยโดรนพิสัยไกล

กัสดี ดา คอสตา
นักวิเคราะห์ระบุว่า แผนการจัดหาโดรนอังกาจำนวน 12 ลำของอินโดนีเซียถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญในการปรับปรุงขีดความสามารถทางทหาร เสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล และสนับสนุนการพึ่งพาตนเองในอุตสาหกรรมกลาโหมของอินโดนีเซีย
ข้อตกลงมูลค่า 1.03 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) กับบริษัทตุรกี แอโรสเปซ อินดัสทรีส์ ประกอบไปด้วยโดรน 6 ลำที่ผลิตในตุรกี และอีก 6 ลำที่ประกอบในประเทศโดยบริษัทพีทีดีไอซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอากาศยานของอินโดนีเซีย การส่งมอบมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2568 โดยโดรนเหล่านี้จะได้รับการนำไปใช้งานร่วมกันระหว่างกองทัพอากาศ กองทัพบก และกองทัพเรืออินโดนีเซีย เพื่อเสริมการปกป้องน่านน้ำและเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินโดนีเซีย
อากาศยานไร้คนขับระดับความสูงปานกลางแบบพิสัยไกลจะมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงทางทะเล
วิดีโอจาก: บริษัทตุรกี แอโรสเปซ อินดัสทรีส์/อะนาโดลู เอเจนซี/รอยเตอร์
“ดินแดนทางทะเลอันกว้างใหญ่ของอินโดนีเซีย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่น่านน้ำกว่า 3.25 ล้านตารางกิโลเมตร และหมู่เกาะกว่า 17,000 แห่ง นำมาซึ่งความท้าทายครั้งใหญ่ในด้านการลาดตระเวนและการป้องกัน” น.อ. ดร. มาร์เซลลัส ฮาเคง จายาวิบาวา นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมจากศูนย์ยุทธศาสตร์เลมฮานนัสในกรุงจาการ์ตา กล่าวกับ ฟอรัม โดรนเหล่านี้จะ “มอบแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงกลยุทธ์ โดยการเพิ่มศักยภาพในการตรวจจับภัยคุกคามตั้งแต่แรกเริ่ม และนำไปสู่การลาดตระเวนอย่างเข้มข้นได้แม้ในสภาพอากาศเลวร้าย”
ด้วยเรดาร์และระบบถ่ายภาพอินฟราเรดขั้นสูง โดรนอันกาสามารถตรวจจับการประมงที่ผิดกฎหมาย เช่น ในทะเลนาตูนาเหนือและทะเลอาราฟูรา รวมถึงการกระทำอันเป็นโจรสลัดในเส้นทางการค้าสำคัญ เช่น ช่องแคบมะละกา น.อ. ดร. มาร์เซลลัสระบุ
นอกเหนือจากการเสริมสร้างขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเลแล้ว โดรนเหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพของอินโดนีเซียในการจัดการข้อพิพาทด้านดินแดนและความท้าทายด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
การทำข้อตกลงกับบริษัทตุรกี แอโรสเปซ อินดัสทรีส์ไม่ได้เป็นเพียงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์เท่านั้น แต่ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมกลาโหมของอินโดนีเซีย ดร. โยโน เรกโซปรอดโจ หัวหน้าฝ่ายถ่ายโอนเทคโนโลยีและการชดเชยทางอุตสาหกรรมของคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมกลาโหมประเทศอินโดนีเซีย กล่าวกับ ฟอรัม “การซื้ออาวุธจากต่างประเทศในทุก ๆ ครั้งอยู่ภายใต้การควบคุมโดยกฎหมาย ซึ่งต้องครอบคลุมถึงการคืนผลประโยชน์ทางการค้า การใช้ส่วนประกอบในประเทศ และการชดเชย” ดร. โยโนกล่าว “สิ่งนี้ช่วยให้อินโดนีเซียสามารถสร้างความเป็นอิสระในการปฏิบัติการ และในท้ายที่สุดก็จะสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกันในประเทศได้”
ความร่วมมือนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของอินโดนีเซียในการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองในอุตสาหกรรมกลาโหม ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานสำหรับการผลิตอาวุธขั้นสูงในประเทศ
“หากโครงการนี้ … ประสบความสำเร็จ จะเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญสำหรับอินโดนีเซีย” นายทึคุ เรซาสยา อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยปาดจัดจารัน กล่าว “ซึ่งจะช่วยเตรียมวิศวกรและนักวิจัยของอินโดนีเซียให้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีนี้ และสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในประเทศ”
ความร่วมมือกับตุรกีถือเป็นตัวอย่างของการใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในประเทศ “การจัดหาครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการซื้อยุทโธปกรณ์ แต่เป็นการสร้างระบบนิเวศกลาโหมที่ยั่งยืนและแข่งขันได้” ดร. โยโนกล่าว
การเป็นสมาชิกนาโตของตุรกีช่วยยกระดับชื่อเสียงให้กับยุทโธปกรณ์กลาโหมของอินโดนีเซีย น.อ. ดร. มาร์เซลลัสกล่าว “การมีหุ้นส่วนด้านกลาโหมที่หลากหลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอินโดนีเซีย ทั้งนี้เพื่อลดการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป” น.อ. ดร. มาร์เซลลัสกล่าว “ความร่วมมือนี้เปิดโอกาสให้กับความร่วมมือเพิ่มเติมในด้านการพัฒนาและวิจัยร่วมกัน”
กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย