ทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รัฐบาลอินโดนีเซียให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมกลาโหมในประเทศ

กัสดี ดา คอสตา

ท่ามกลางความตึงเครียดในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นและเทคโนโลยีสนามรบที่พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง อินโดนีเซียมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างอุตสาหกรรมกลาโหมในประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

แม้ว่าอุตสาหกรรมกลาโหมของอินโดนีเซียจะมีผลงานโดดเด่นในด้านการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการด้านการป้องกันประเทศและการส่งออก แต่อุตสาหกรรมนี้กำลังจะได้รับประโยชน์จากงบประมาณกลาโหมที่เพิ่มขึ้น ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ใหม่ ๆ และข้อตกลงด้านเทคโนโลยีกับประเทศอื่น ๆ รวมถึงการปฏิรูปอุตสาหกรรม

นายปราโบโว ซูเบียนโต ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2567 หลังจากดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาเป็นเวลา 5 ปี ได้ยกให้ประเด็นด้านกลาโหมเป็นเป้าหมายสำคัญ ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี นายปราโบโวได้ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มงบประมาณกลาโหมของอินโดนีเซียเป็นร้อยละ 1.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศภายใน พ.ศ. 2572 ซึ่งเทียบเท่ากับการเพิ่มงบประมาณเป็นสองเท่าของปัจจุบัน

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 นายปราโบโวได้ให้สัตยาบันต่อกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือด้านกลาโหมกับบราซิล กัมพูชา ฝรั่งเศส อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายปราโบโวได้ลงนามในข้อตกลงที่คล้ายกันนี้กับออสเตรเลีย เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา

ลำดับความสำคัญรวมถึงการพัฒนาเครื่องบินรบ เรือดำน้ำ และดาวเทียมทางการทหาร ตามที่นายเซ็ปเตียวาน ผู้ใช้ชื่อเพียงอย่างเดียว และเป็นผู้อำนวยการบริหารของอินโดนีเซียดีเฟนซ์แอนด์ซีเคียวริตี้สเตรตจิกฟอรัม กล่าว

นักวิเคราะห์เน้นย้ำถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมกลาโหมในประเทศในการเสริมสร้างจุดยืนด้านความมั่นคงแห่งชาติของประเทศ “ผลิตภัณฑ์ที่เหนือชั้น เช่น เครื่องบินขับไล่ เรือกองกำลังรักษาชายฝั่ง และอาวุธเบาระดับกลาง ช่วยยกระดับความเชื่อมั่นในพื้นที่ระหว่างประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยอัตโนมัติด้วยเช่นกัน” ดร. โยโน เรกโซปรอดโจ หัวหน้าฝ่ายถ่ายโอนเทคโนโลยีและการชดเชยแห่งคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมกลาโหม ซึ่งขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย กล่าวกับ ฟอรัม

ซีเอ็น-235 เครื่องบินเครื่องยนต์คู่พิสัยบินระยะปานกลาง ที่ได้รับการพัฒนาโดยบริษัทพีทีดีไอของอินโดนีเซียและซีเอเอสเอของสเปน แสดงถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมกลาโหมของอินโดนีเซีย นายเซ็ปเตียวานกล่าวกับ ฟอรัม “เครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีลำนี้ตอบสนองความต้องการภายในประเทศและส่งออกไปยังหลายประเทศ ซึ่งแสดงถึงความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของอินโดนีเซียในระดับสากล”

พีทีดีไอได้ปรับปรุงและพัฒนาเครื่องบิน ซีเอ็น-235 ให้เป็นรุ่นสำหรับลาดตระเวนทางทะเล โดยติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์การบินขั้นสูงและจอแสดงผลแบบดิจิทัลครบวงจร นายเซ็ปเตียวานกล่าวเสริม

บริษัทผู้ต่อเรือของอินโดนีเซีย พีที พีเอแอล กำลังร่วมมือกับกลุ่มบริษัทนาวาลกรุ๊ปของฝรั่งเศส เพื่อผลิตเรือดำน้ำรุ่น สกอร์แปน เอโวลฟ์ จำนวน 2 ลำในอินโดนีเซียสำหรับกองทัพเรือของอินโดนีเซีย ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2568 อินโดนีเซียและญี่ปุ่นได้ตกลงรื้อฟื้นการเจรจาเกี่ยวกับการพัฒนาเรือฟริเกตทางทะเลร่วมกัน โดยอ้างอิงจากการออกแบบของเรือชั้นโมกามิของญี่ปุ่น จากการรายงานของเว็บไซต์เดอะดีเฟนส์โพสต์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 รัฐบาลอินโดนีเซียอาจร่วมมือกับรัฐบาลอินเดียในด้านเทคโนโลยีกลาโหม โดยมุ่งเน้นที่ขีปนาวุธร่อนบราห์มอสของอินเดีย

อินโดนีเซียและเกาหลีใต้กำลังทำงานร่วมกันในโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่รุ่น เคเอฟ-21 โบราแม ตามที่นายเบนี สุคาดิส นักวิเคราะห์จากสถาบันยุทธศาสตร์และกลาโหมแห่งอินโดนีเซีย กล่าวกับ ฟอรัม “ในขณะเดียวกัน บริษัทแอลไอจีของเกาหลีใต้จะร่วมมือกับพีทีดีไอและบริษัทเอกชนของอินโดนีเซีย … เพื่อพัฒนาจรวดและโดรน” นายสุคาดิสกล่าว

รัฐบาลอินโดนีเซียได้เปิดตัวดีเฟนด์ไอดี ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเชิงยุทธศาสตร์ ตามที่นายเซ็ปเตียวานกล่าว “โครงการริเริ่มนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความร่วมมือ ประสิทธิภาพ และนวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์กลาโหม รวมถึงเสริมสร้างจุดยืนของอินโดนีเซียในอุตสาหกรรมกลาโหมระดับโลก” นายเซ็ปเตียวานกล่าว

นายเซ็ปเตียวานได้ระบุลำดับความสำคัญที่เป็นไปได้สำหรับอุตสาหกรรมกลาโหมของประเทศ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ การส่งเสริม “ความร่วมมือเชิงสถาบัน” ระหว่างรัฐบาล อุตสาหกรรม และกองทัพ ตลอดจนการเสริมสร้างการถ่ายโอนเทคโนโลยีผ่านความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับต่างประเทศ

“ผมคิดว่าอุตสาหกรรมกลาโหมของอินโดนีเซียมีศักยภาพที่ยอดเยี่ยมในการปรับปรุงขีดความสามารถและความเป็นอิสระด้านกลาโหมของประเทศ” นายสุคาดิสกล่าวเสริม

กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

แสดงความคิดเห็นที่นี่

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button