มาเลเซียเสริมความมั่นคงทางทะเลด้วยเครื่องบินลาดตระเวนที่ล้ำสมัยและความร่วมมือระดับภูมิภาค

ปีเตอร์ พาร์สัน
เมื่อเผชิญกับภัยคุกคามความมั่นคงทางทะเลที่เปลี่ยนแปลงไป มาเลเซียจึงเพิ่มขีดความสามารถด้านการลาดตระเวน ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องบินรุ่นใหม่และความสัมพันธ์หุ้นส่วนในภูมิภาคที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ในฐานะส่วนหนึ่งของการพัฒนา กองทัพอากาศมาเลเซียกำลังจัดซื้อเครื่องบินลาดตระเวน เอทีอาร์ 72เอ็มพีเอ จำนวน 2 ลำ ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทลีโอนาร์โด แอโรสเปซ ของอิตาลี และได้ดัดแปลงเครื่องบินลำเลียง ซีเอ็น-235 จำนวน 3 ลำ ให้กลายเป็นเครื่องบินลาดตระเวนขั้นสูง การดัดแปลงนี้เป็นข้อตกลงกับบริษัท พีทีดีไอ ของอินโดนีเซีย และได้รับทุนสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา
“สินทรัพย์เพิ่มเติมเหล่านี้จะช่วยมาเลเซียในการรักษาการแสดงตนทางอากาศเหนือน่านน้ำอาณาเขตและเขตเศรษฐกิจพิเศษของตนได้อย่างแน่นอน” นายอาดิบ ซัลคาพลี กรรมการผู้จัดการของบริษัท วิวไฟน์เดอร์ โกลบอล แอฟแฟร์ส ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษานโยบายสาธารณะและภูมิรัฐศาสตร์ กล่าวกับ ฟอรัม
เอทีอาร์ 72เอ็มพีเอ ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบพร็อปคู่ และเป็นเครื่องบินขนส่งในภูมิภาครุ่นพิเศษล่าสุดที่พัฒนาโดยบริษัทลีโอนาร์โด แอโรสเปซ เครื่องบินลำนี้ได้รับการออกแบบมาสำหรับภารกิจหลากหลายรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการลาดตระเวนทางทะเล การต่อต้านเรือดำน้ำ การต่อต้านเรือผิวน้ำ การค้นหาและกู้ภัย การเฝ้าติดตามสิ่งแวดล้อม การอพยพผู้ป่วย รวมถึงการลำเลียงบุคลากรและวัสดุ ข้อตกลงนี้มีมูลค่า 5.88 พันล้านบาท (ประมาณ 171.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามรายงานของบริษัทวิเคราะห์ด้านกลาโหมเจนส์ เครื่องบินลำดังกล่าวมีกำหนดส่งมอบในช่วงกลาง พ.ศ. 2569
เครื่องบิน ซีเอ็น-235 พิสัยกลางที่มีเครื่องยนต์คู่ลำนี้ได้รับการติดตั้งเรดาร์ลาดตระเวนทางทะเล ระบบอินฟราเรดแบบไฟฟ้าเชิงแสง ขีดความสามารถในการสื่อสารนอกแนวสายตา และระบบสถานีปฏิบัติการแบบเคลื่อนย้ายได้ ตามรายงานของเนวาลนิวส์ งานดัดแปลงดังกล่าวดำเนินการในอินโดนีเซียโดยพีทีดีไอ โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทอินทีเกรตเต็ด เซอร์เวลแลนซ์ แอนด์ ดีเฟนส์ ของสหรัฐฯ และทุนสนับสนุนจากโครงการความมั่นคงทางทะเลของสหรัฐฯ มูลค่า 2.05 พันล้านบาท (ประมาณ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เครื่องบินทั้ง 3 ลำได้รับการส่งมอบให้กับฐานทัพอากาศสุบังของกองทัพอากาศมาเลเซียในช่วงกลาง พ.ศ. 2567
มาเลเซียยังเตรียมจัดซื้อโดรนอังกาจำนวน 3 ลำจากบริษัทตุรกี แอโรสเปซ อินดัสทรีส์ ที่ได้รับการปรับแต่งมาสำหรับการลาดตระเวนทางทะเล
มาเลเซียจำเป็นต้องเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล โดยส่วนใหญ่เป็นเพราะการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ที่ทับซ้อนกันกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความขัดแย้ง เช่น หมู่เกาะสแปรตลีย์และสันดอนลูโคเนีย การกระทำที่ก้าวร้าวของจีน รวมถึงการเรียกร้องให้มาเลเซียยุติการสำรวจน้ำมันและการที่จีนส่งเรือลาดตระเวนไปติดตามเรือมาเลเซีย ล้วนได้เพิ่มความตึงเครียดให้สูงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เรือประมงต่างชาติยังมักละเมิดเขตเศรษฐกิจพิเศษของมาเลเซีย ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก การกระทำอันเป็นโจรสลัดและกิจกรรมผิดกฎหมายในช่องแคบสิงคโปร์และช่องแคบมะละกายังคงเป็นภัยคุกคามอยู่ แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะลดลงเนื่องจากการลาดตระเวนและความร่วมมือระหว่างประเทศ
โครงการความร่วมมือทางทะเลกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ของมาเลเซียช่วยประสานงานด้านการลาดตระเวนทางทะเลและทางอากาศในทะเลซูลูและทะเลเซเลเบส เพื่อป้องกันและตอบโต้การกระทำอันเป็นโจรสลัด การปล้นสะดมด้วยอาวุธ และอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การลักลอบขนสินค้าและการก่อการร้าย
กองทัพเรืออินโดนีเซียใช้งาน ซีเอ็น-235 จำนวน 6 ลำ ซึ่งในจำนวนนี้มี 2 ลำที่ได้รับการปรับปรุงด้วยอุปกรณ์และขีดความสามารถขั้นสูง ในขณะเดียวกัน กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ก็เตรียมรับมอบ เอทีอาร์ 72 รุ่นดัดแปลงจำนวน 2 ลำใน พ.ศ. 2568 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ฟิลิปปินส์ เดลี อินไควเรอร์
“ความท้าทายที่มาเลเซียเผชิญในฐานะประเทศทางทะเลไม่ใช่เรื่องใหม่” นายซัลคาพลีกล่าว “กองทัพอากาศมาเลเซียจำเป็นต้องปกป้องทรัพยากรทางทะเลของประเทศ รักษาการแสดงตนและการควบคุมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน”
ปีเตอร์ พาร์สัน ผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในเมืองแฮมิลตัน ประเทศนิวซีแลนด์