ฝรั่งเศสและอินโดนีเซียกระชับความสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพในอินโดแปซิฟิก

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส
เจ้าหน้าที่ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของฝรั่งเศสและอินโดนีเซียเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค
นายเซบาสเตียน เลอคอร์นู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางไปเยือนอินโดนีเซีย ได้ร่วมประชุมกับ นายซาฟรี ซัมโซดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย ในช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2568 โดยทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้ฝรั่งเศสและอินโดนีเซียขยายความร่วมมือผ่านการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความร่วมมือในรูปแบบอื่น ๆ พล.จ. เฟรกา เวนัส โฆษกกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทั้งสองร่วมประชุมกันในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วันหลังจากที่กองเรือบรรทุกเครื่องบินจู่โจมของกองทัพเรือฝรั่งเศสเดินทางมาถึงอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก เรือ ชาร์ลส์ เดอ โกล เรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกของฝรั่งเศส ได้จอดเทียบท่าที่บาหลีและลอมบอกเพื่อดำเนินกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจระยะเวลา 6 เดือนในอินโดแปซิฟิกที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567
นอกจากนี้ ชาร์ลส์ เดอ โกล ยังเข้าร่วมการฝึกทางทะเล ลา เปรูซ 25 ที่นำโดยกองทัพเรือฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการฝึกที่จัดขึ้นในช่องแคบลอมบอก มะละกา และซุนดา สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในกรุงจาการ์ตาระบุ การฝึกดังกล่าวจัดขึ้นทุกสองปี โดยมีออสเตรเลีย แคนาดา อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาเข้าร่วม
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 เครื่องบินของกองทัพอากาศฝรั่งเศสได้ลงจอดที่กรุงจาการ์ตาในระหว่างการปฏิบัติภารกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของฝรั่งเศสต่อความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก ท่ามกลางกิจกรรมทางทะเลที่เพิ่มขึ้นของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างฝรั่งเศสและอินโดนีเซียขยายตัวมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้ลงนามในข้อตกลงจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ ราฟาล จำนวน 42 ลำที่ผลิตโดยฝรั่งเศส ซึ่งคาดว่าจะมีการส่งมอบเครื่องบินลำแรกใน พ.ศ. 2569 นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังประกาศจัดซื้อเรือดำน้ำสกอร์เปน อีโวลฟ์ จำนวน 2 ลำ และระบบเรดาร์สกัดกั้นควบคุมจากภาคพื้นดิน 13 ชุด โดยในจำนวนนี้มี 5 ชุดที่คาดว่าจะติดตั้งในกรุงนูซันตารา เมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย
การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ส่วนใหญ่ แม้ว่าศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะมีคำตัดสินใน พ.ศ. 2559 ว่าการอ้างสิทธิ์ของจีนไม่มีมูลทางกฎหมาย ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางขนส่งที่สำคัญ มีทรัพยากรการประมงและแหล่งแร่ใต้ทะเลที่อุดมสมบูรณ์
แม้ว่าอินโดนีเซียจะไม่ใช่รัฐที่อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ แต่ก็เคยเกิดกรณีพิพาทกับจีนเกี่ยวกับสิทธิในการทำประมงบริเวณหมู่เกาะนาทูนาตอนเหนือ ซึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินโดนีเซีย แต่จีนกลับยังคงอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ดังกล่าว