ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ากฎหมายทรัพย์เชลยอาจช่วยยับยั้งความขัดแย้งในอนาคตได้

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
นักวางแผนทางทหารและนักวิชาการมักได้รับมอบหมายให้ไตร่ตรองถึงสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้ กล่าวคือความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่อาจบานปลายจนกลายเป็นหายนะระดับโลก อีกทั้งยังมีหน้าที่พัฒนากลยุทธ์เพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จของสหรัฐอเมริกา รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วน
ทฤษฎีการปฏิเสธชัยชนะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการเพิ่มโอกาสให้สหรัฐฯ สามารถควบคุมการยกระดับความขัดแย้งดังกล่าวและคว้าชัยชนะ ตามการศึกษาของแรนด์คอร์ปอเรชัน พ.ศ. 2567 เรื่อง “ทฤษฎีชัยชนะของกองทัพสหรัฐฯ สำหรับการทำสงครามกับสาธารณรัฐประชาชนจีน”
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ได้ประเมินแนวคิดที่เรียกว่า กฎหมายทรัพย์เชลย ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินกลยุทธ์การปฏิเสธ โดยเฉพาะเพื่อรักษาความปลอดภัยของเส้นทางน้ำที่สำคัญในทะเลจีนใต้หรือบริเวณใกล้ไต้หวัน
กลยุทธ์การปฏิเสธมุ่งเน้นไปที่การบ่อนทำลายความสามารถในการแสดงอำนาจของศัตรู เพื่อทำให้ผู้นำของศัตรูเชื่อว่าพวกเขาไม่น่าจะบรรลุเป้าหมายได้ และการสู้รบที่มากขึ้นจะไม่เปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ในท้ายที่สุด ตามรายงานของแรนด์คอร์ปอเรชัน
ภายใต้กฎหมายทรัพย์เชลย ซึ่งได้รับการยอมรับทั้งในกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ กองทัพสามารถดำเนินการตรวจสอบและค้นหา รวมทั้งยึดเรือและสินค้าของฝ่ายศัตรูได้ ศาลทรัพย์เชลยที่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งมักเป็นศาลภายในประเทศภายใต้เขตอำนาจของรัฐผู้จับกุม จะพิจารณาคดีเกี่ยวกับ “ทรัพย์เชลย” ตามที่นายเจมส์ คราสกาและผู้เขียนร่วมได้อธิบายไว้ใน คู่มือกฎหมายสงครามทางทะเลนิวพอร์ต ฉบับ พ.ศ. 2566
หากศาลตัดสินว่าการจับกุมถูกต้องตามกฎหมาย รัฐสามารถยึดและใช้เรือ เครื่องบิน หรือสินค้าที่จับกุมได้เพื่อประโยชน์ของตนเอง ตามที่นายคราสกา อาจารย์ด้านกฎหมายทางทะเลระหว่างประเทศและประธานศศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศสต็อกตันของวิทยาลัยยุทธนาวีสหรัฐฯ ได้เขียนไว้
“กฎหมายทรัพย์เชลยสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการยึดเรือพาณิชย์ที่เป็นเครือข่ายของจีนในช่วงที่เกิดความขัดแย้ง เนื่องจากการดำเนินการภายใต้กฎหมายทรัพย์เชลยสามารถดำเนินการได้เกือบทุกที่ในโลก กองทัพสหรัฐฯ อาจใช้ศักยภาพในการแสดงอำนาจทั่วโลกเพื่อขยายการปฏิบัติการออกนอกเขตป้องกันการเข้าถึงและปฏิเสธพื้นที่ของจีน” พ.ต. ไรอัน แรทคลิฟฟ์ จากนาวิกโยธินสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่ด้านการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์และผู้ควบคุมการโจมตีทางอากาศร่วม ซึ่งได้รับมอบหมายจากสำนักงานหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการทางเรือ เขียนในวารสารรายเดือนของสถาบันกองทัพเรือสหรัฐฯ โพรซีสดิงส์ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567
ในสถานการณ์ความขัดแย้ง การดำเนินการภายใต้กฎหมายทรัพย์เชลยสามารถช่วยรักษาสมดุลระหว่างประสิทธิภาพในการปฏิบัติการกับความเสี่ยงจากการยกระดับสถานการณ์
“การยึดเรือที่มีความเชื่อมโยงกับจีนจะก่อให้เกิดต้นทุน ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปจะสูงกว่าผลประโยชน์จากการสู้รบอย่างต่อเนื่อง” พ.ต. แรทคลิฟฟ์เขียน ในขณะเดียวกัน การบ่อนทำลายการค้าทางทะเลของจีนจะลดทอนขีดความสามารถในการทำสงคราม และลดโอกาสที่การสู้รบจะยืดเยื้อต่อไป
“สหรัฐอเมริกาจะสามารถรักษาอำนาจของตนและฟื้นฟูการค้าที่เสรีและเปิดกว้างภายใต้ระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา โดยใช้ศักยภาพในการแสดงอำนาจทั่วโลกเพื่อกดดันให้จีนยอมจำนนโดยไม่ให้สถานการณ์บานปลายถึงขั้นใช้อาวุธนิวเคลียร์ ด้วยวิธีนี้ จะเป็นการรับประกันถึงความมั่นคงและความรุ่งเรือง ทั้งในประเทศและทั่วโลกไปอีกยาวนานหลังสงครามสิ้นสุด” พ.ต. แรทคลิฟฟ์เขียน
กฎหมายทรัพย์เชลยสามารถใช้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพภายใต้ทฤษฎีการปฏิเสธชัยชนะ หากสหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนขยายขีดความสามารถ รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการ กฎระเบียบ และข้อบังคับของศาลทรัพย์เชลยเพื่อดำเนินการยึดครองครั้งใหญ่ นักวิเคราะห์ระบุ
“ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำเพื่อกำหนดโครงสร้างกองกำลัง การจัดวางตำแหน่ง และปัจจัยด้านเวลาสำหรับปฏิบัติการภายใต้กฎหมายทรัพย์เชลย” พ.ต. แรทคลิฟฟ์กล่าว “แต่หากเข้าใจถึงกระบวนการโดยรวม สหรัฐอเมริกาก็สามารถเริ่มสร้างกรอบแนวทางได้ตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อใช้เป็นทางเลือกในกรณีเกิดสงครามกับจีน”