นานาประเทศร่วมกันกำหนดแนวทางระดับโลกด้านปัญญาประดิษฐ์

เจ้าหน้าที่ เซนทรี
การนำแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ไปใช้งานอย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ พันธมิตร หุ้นส่วน และอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกัน เหล่าผู้นำกล่าวในงานประชุมเกี่ยวกับนโยบายปัญญาประดิษฐ์ระดับนานาชาติ
“เราต้องสร้างกรอบการทำงานที่ส่งเสริมนวัตกรรมอย่างสูงสุด พร้อมทั้งรับรองการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ที่เชื่อถือได้ ปลอดภัย และมีจริยธรรม ความสมดุลนี้คือรากฐานสำคัญของการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพ” นายชิเงโอะ ยามาดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสหรัฐฯ กล่าวในงานประชุมเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. “วิธีที่เราจะรับรองว่าปัญญาประดิษฐ์มีความน่าเชื่อถือและเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน ยังคงเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบแน่ชัด”
ผู้ร่วมอภิปรายระบุว่านานาประเทศกำลังทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาแนวทางควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติทางทหารอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก 58 ประเทศ ณ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ จี 7 ให้คำมั่นที่จะส่งเสริมการหารือระดับนานาชาติเพื่อมุ่งสู่ “การพัฒนาเครื่องมือเพื่อสนับสนุนปัญญาประดิษฐ์ที่น่าเชื่อถือผ่านองค์กรระหว่างประเทศที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย ทั้งยังสนับสนุนการพัฒนาและการยอมรับมาตรฐานทางเทคนิคระหว่างประเทศ” ตามที่ระบุในแถลงการณ์ของทำเนียบขาว
ในขณะเดียวกัน เครือข่ายสถาบันด้านความปลอดภัยของปัญญาประดิษฐ์ระดับนานาชาติ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 30 ประเทศ กำลังใช้ความเชี่ยวชาญทางเทคนิคเพื่อสร้างกรอบการพัฒนานวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ที่ปลอดภัย มั่นคง และน่าเชื่อถือ
แคนาดา ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ จี 7 ใน พ.ศ. 2568 จะมุ่งส่งเสริมความร่วมมือเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีของประเทศกำลังพัฒนา นางซาราห์ โคเฮน รองหัวหน้าคณะผู้แทนของสถานทูตแคนาดาประจำสหรัฐฯ กล่าว
“แม้จะยังมีอีกหลายด้านที่ต้องพัฒนาในเรื่องความปลอดภัยและการตัดสินใจของมนุษย์ เรามองเห็นโอกาสที่จะร่วมมือกันเพื่อใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจของเราและทั่วโลก ท่ามกลางการแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับสาธารณรัฐประชาชนจีน” นางโคเฮนกล่าวในที่ประชุม “เราต้องสร้างสมดุลระหว่างการปกป้องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคส่วนปัญญาประดิษฐ์ของเรา ในขณะเดียวกันก็ต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านปัญญาประดิษฐ์ในกลุ่มประเทศส่วนใหญ่ของโลก เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปกป้องผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งชาติของเรา รวมถึงการต่อต้านแนวคิดเผด็จการในโลกดิจิทัล”
นานาประเทศยังต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่จำเป็นสำหรับขีดความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ในลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นายโลรองต์ บีลี เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสหรัฐฯ กล่าว
“เราต้องรับรองว่าปัญญาประดิษฐ์จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนในสังคมมนุษย์ ไม่ใช่เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในทางกลับกัน เราต้องตระหนักและบรรเทาความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะเราทุกคนทราบดีว่าปัญญาประดิษฐ์มีศักยภาพที่จะเอื้อต่อการโจมตีทางไซเบอร์ การเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน และการผลิตอาวุธชีวภาพและเคมี” นายบีลีกล่าว “เราต้องเชิญประเทศและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมการเจรจาให้มากขึ้น”
นายบีลีระบุว่าฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดด้านปัญญาประดิษฐ์ที่กรุงปารีสในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 โดยมีผู้แทนประมาณ 1,000 คนจาก 100 ประเทศเข้าร่วม
“เราต้องสร้างฉันทามติระดับนานาชาติด้านการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ เพราะความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดคือการที่แต่ละภูมิภาคมีระบบการกำกับดูแลที่แตกต่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความแตกแยกและทำให้ผู้คนมองข้ามความเสี่ยงจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์” นายบีลีกล่าว
เซนทรีเป็นนิตยสารทางการทหารระดับมืออาชีพที่จัดทำขึ้นโดยกองบัญชาการยุทธศาสตร์ สหรัฐฯ เพื่อเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นสำหรับบุคลากรด้านความมั่นคงของประเทศ