ทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ญี่ปุ่นเพิ่มการลงทุนในดาวเทียมด้านกลาโหมเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางอวกาศและการสื่อสาร

ฟีลิกซ์ คิม

การดำเนินงานด้านอวกาศของญี่ปุ่นกำลังจะได้รับการส่งเสริมครั้งใหญ่ ด้วยงบประมาณที่เพิ่มขึ้นถึงสิบเท่าภายในระยะเวลา 5 ปีสำหรับการพัฒนาโครงการดาวเทียมด้านกลาโหมและโครงการที่เกี่ยวข้อง การผลักดันดังกล่าวรวมถึงแผนการพัฒนาดาวเทียมสื่อสารที่ล้ำสมัยและมีความทนทานสูงที่สุดของประเทศ รวมถึงขีดความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามจากอาวุธต่อต้านดาวเทียม

การปล่อยดาวเทียม คิราเมกิ 3 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ซึ่งช่วยเสริมประสิทธิภาพการสื่อสารที่ปลอดภัย รวดเร็ว และรองรับปริมาณข้อมูลสูงให้แก่กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น ถือเป็นตัวอย่างของความมุ่งมั่นของรัฐบาลญี่ปุ่นในด้านนี้

องค์การอวกาศของญี่ปุ่นปล่อยดาวเทียมนำทางจากศูนย์อวกาศทาเนกาชิมะ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 จรวด เอช3 ลำนี้เป็นจรวดญี่ปุ่นลำแรกที่บรรทุกสัมภาระของสหรัฐอเมริกาขึ้นสู่อวกาศ
วิดีโอจาก: จ.ต. เควิน ฮอลโลเวย์/กองทัพอากาศสหรัฐฯ

คิราเมกิ 3 เป็นชุดดาวเทียมสื่อสารรุ่นล่าสุดในย่านความถี่เอ็กซ์แบนด์ของญี่ปุ่น ดาวเทียมดวงนี้เข้าประจำการในวงโคจรค้างฟ้าเคียงข้าง คิราเมกิ 1 และ คิราเมกิ 2 เพื่อให้การสื่อสารที่ต่อเนื่องแก่กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น ทั้งในประเทศและในปฏิบัติการต่างแดน ดาวเทียมรุ่นนี้ใช้ย่านความถี่เอ็กซ์แบนด์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อสัญญาณเสียงและข้อมูลที่มีความเสถียร รวดเร็ว และต้านทานการรบกวนได้ดี การส่ง คิราเมกิ 3 ขึ้นสู่วงโคจรยังเป็นการยืนยันถึงความน่าเชื่อถือของจรวดขนส่ง เอช3 ของญี่ปุ่น ซึ่งประสบความสำเร็จในการปฏิบัติภารกิจต่อเนื่องเป็นครั้งที่สาม

ขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอให้มีงบประมาณสำหรับดาวเทียมสื่อสารทางทหารรุ่นใหม่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 นายเก็น นากาทานิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ประกาศในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 ดาวเทียมดวงใหม่นี้จะมีความแข็งแกร่งมากขึ้นและรองรับขีดความสามารถด้านการสื่อสารได้มากกว่ารุ่นก่อนหน้า โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณ 2.69 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) นายนากาทานิกล่าว

งบประมาณที่เสนอสำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับอวกาศอยู่ที่เกือบ 1.17 แสนล้านบาท (ประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 1,000 เมื่อเทียบกับงบประมาณใน พ.ศ. 2563 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไมนิจิ

สินทรัพย์ด้านความมั่นคงทางอวกาศของญี่ปุ่นยังรวมถึงกลุ่มดาวเทียมตรวจการณ์วงโคจรต่ำภายใต้โครงการ ดาวเทียมรวบรวมข้อมูล โดย ไอจีเอส-เรดาร์ 8 ซึ่งเป็นดาวเทียมรุ่นใหม่ล่าสุดในดาวเทียมชุดนี้ ได้รับการปล่อยขึ้นสู่วงโคจรในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 ดาวเทียมเหล่านี้ใช้ระบบสำรวจด้วยภาพถ่ายเชิงแสงและเรดาร์รูรับแสงสังเคราะห์เพื่อตรวจสอบภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงโครงการพัฒนาขีปนาวุธของเกาหลีเหนือที่ผิดกฎหมาย

แผนพัฒนาระบุถึงระบบรวบรวมข่าวกรองที่ผสานภาพถ่ายจากดาวเทียมของภาครัฐและเอกชน รวมถึงกลุ่มดาวเทียมขนาดเล็กสำหรับการบันทึกภาพที่ถี่ขึ้น ตามข้อมูลจากสมุดปกขาวกระทรวงกลาโหมฉบับล่าสุดของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งเผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567

ญี่ปุ่นร่วมมือกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรภายใต้สนธิสัญญา ตลอดจนกับเกาหลีใต้ ภายใต้ข้อตกลงความมั่นคงทั่วไปของข้อมูลทางทหาร

“ญี่ปุ่นเริ่มให้ความสำคัญกับอวกาศอย่างจริงจังใน พ.ศ. 2561 เมื่อพวกเขานำขอบเขตด้านอวกาศ ไซเบอร์ และแม่เหล็กไฟฟ้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดด้านกลาโหมของตนเอง” ดร. เจฟฟรีย์ ฮอร์นัง นักวิเคราะห์กิจการกลาโหมที่แรนด์ คอร์ปอเรชัน กล่าวกับ ฟอรัม “ญี่ปุ่นกำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกองกำลังป้องกันตนเองโดยการช่วยให้สามารถกำหนดตำแหน่ง นำทาง และระบุเวลาได้อย่างแม่นยำ”

ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเสริมขีดความสามารถเหล่านี้หากคิดจะพัฒนาแนวทางตอบโต้เชิงรุก ซึ่งอาจรวมถึงการใช้ขีปนาวุธพิสัยไกล ดร. ฮอร์นังกล่าว

สมุดปกขาวด้านกลาโหมของญี่ปุ่นยังเตือนถึงการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของสาธารณรัฐประชาชนจีนในโครงการดาวเทียมทางทหาร และระบุถึงความพยายามของรัฐบาลญี่ปุ่นในการเสริมสร้างศักยภาพด้านอวกาศผ่านการวิจัยและพัฒนา การกำหนดนโยบาย และความร่วมมือกับพันธมิตรและภาคเอกชน

เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากอาวุธต่อต้านดาวเทียม รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพัฒนาขีดความสามารถด้านเฝ้าระวังทางอวกาศ ซึ่งรวมถึงดาวเทียมเฝ้าระวังขอบเขตอวกาศที่มีกำหนดปล่อยใน พ.ศ. 2569

“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การใช้ประโยชน์จากอวกาศอย่างมั่นคงถูกคุกคามจากการปรากฏตัวขึ้นของอาวุธต่อต้านดาวเทียม ซึ่งรวมถึงสิ่งที่เรียกว่าดาวเทียมสังหาร” นายนากาทานิกล่าว เจ้าหน้าที่กล่าวว่าความสามารถในการต้านทานจะต้องเป็นคุณสมบัติหลักของดาวเทียมด้านกลาโหมรุ่นใหม่ รวมถึงการรับมือกับดาวเทียมสังหาร การก่อกวนสัญญาณ และการแทรกแซงรูปแบบอื่น ๆ

ดร. ฮอร์นังกล่าวว่า การเสริมสร้างความสามารถในการต้านทานภัยคุกคามในอวกาศสะท้อนถึงแนวทางการวางแผนด้านกลาโหมที่กว้างขึ้นของญี่ปุ่น “หากคุณพิจารณา 7 ด้านที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญในแผนยุทธศาสตร์กลาโหม หนึ่งในนั้นคือความสามารถด้านการฟื้นตัว” ดร. ฮอร์นังกล่าว “โดยปกติแล้ว ญี่ปุ่นจะกล่าวถึงการเสริมความแข็งแกร่งให้ทรัพย์สินทางทหาร การรักษาคลังยุทโธปกรณ์ และอื่น ๆ แต่ขอบเขตอวกาศ ไซเบอร์ และแม่เหล็กไฟฟ้าก็รวมอยู่ในแผนเช่นกัน”

ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button