ทรัพยากรส่วนรวมของโลกประเทืองปัญญาแผนก

เกษตรกรรมในน้ำ ในปัจจุบันกลายเป็นแหล่งผลิตปลาหลักของโลก ตามรายงานของหน่วยงานด้านอาหารของยูเอ็น

รอยเตอร์ | ภาพโดย เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

เป็นครั้งแรกที่ผลผลิตสัตว์น้ำในฟาร์มได้แซงหน้าปริมาณการจับปลาจากการทำประมงแบบดั้งเดิม องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุในช่วงกลาง พ.ศ. 2567 โดยเน้นย้ำถึงความหวังว่าอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะตอบสนองความต้องการอาหารทะเลทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นได้

ในรายงานทุกสองปีฉบับล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์การประมงโลก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงโรม ระบุว่าผลผลิตจากการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วโลกใน พ.ศ. 2565 ทำสถิติสูงสุดที่ 223.2 ล้านตัน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือที่รู้จักกันในชื่อเกษตรกรรมในน้ำ คือการเพาะเลี้ยงสิ่งมีชีวิตจำพวกปลา สัตว์น้ำเปลือกแข็ง หอย ตลอดจนพืชน้ำและสาหร่ายในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุม

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่าผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำใน พ.ศ. 2565 สูงถึง 130.9 ล้านตัน ซึ่งเป็นสถิติที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยในจำนวนนี้ 94.4 ล้านตันเป็นสัตว์น้ำ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51 ของผลผลิตสัตว์น้ำทั้งหมด “ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในการเลี้ยงดูประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น” นายมานูเอล บารังจ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการของหน่วยงานกล่าว “ซึ่งเป็นระบบการผลิตอาหารที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา”

เกือบร้อยละ 90 ของผลผลิตสัตว์น้ำทั้งหมดใช้เพื่อการบริโภคของมนุษย์ ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่ผลิตเป็นอาหารปลาและน้ำมันปลา ตามรายงานใน พ.ศ. 2567

โดยที่สิบประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ชิลี อียิปต์ อินเดีย อินโดนีเซีย นอร์เวย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม มีสัดส่วนผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเกือบร้อยละ 90 ของผลผลิตทั้งหมด องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมในที่อื่น ๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในแอฟริกา ซึ่งนำเข้าปลามากกว่าที่ส่งออก

แม้ว่าจะมีบางคนมองว่าเกษตรกรรมในน้ำอาจทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงนำโรคและชนิดพันธุ์ที่รุกรานเข้าสู่ธรรมชาติ แต่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่าการควบคุมและการตรวจสอบที่เหมาะสมสามารถป้องกันสถานการณ์เหล่านี้ได้

การบริโภคสัตว์น้ำในแต่ละปีต่อหัวของประชากรทั่วโลก ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญสำหรับผู้คนหลายล้านคน รวมอยู่ที่ 20.7 กิโลกรัมใน พ.ศ. 2565 เพิ่มขึ้นจาก 9.1 กิโลกรัมใน พ.ศ. 2504 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปีถัดไป ตามรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ

การจับปลาจากการประมงยังคงมีอัตราคงที่ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523-2532) โดยมีปริมาณรวม 92.3 ล้านตันใน พ.ศ. 2565 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลระบุว่าร้อยละ 37.7 ของทรัพยากรปลาในการประมงทางทะเลของโลกมีการจัดประเภทว่าเป็นการจับปลาเกินขนาดใน พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เมื่อค่าดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 10 ตามรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ

“ปัญหาด้านความยั่งยืนเป็นความกังวลอย่างมากสำหรับเรา” นายบารังจ์กล่าว ทั้งยังกล่าวต่อไปว่าอุตสาหกรรมการประมงเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายแห่งได้รับการจัดการอย่างดี รวมถึงการจับปลาทูน่าซึ่งตอนนี้มีความยั่งยืนถึงร้อยละ 90 นอกจากนี้ ร้อยละ 80 ของปลาทะเล 10 ชนิดที่มนุษย์บริโภคมากที่สุดมีการใช้วิธีจับอย่างยั่งยืน

“ถือเป็นความก้าวหน้าที่น่าประทับใจในช่วงสิบปีที่ผ่านมา” นายบารังจ์กล่าว

แสดงความคิดเห็นที่นี่

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button