อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อินโดนีเซียกำลังเสริมสร้างการป้องกันแนวหน้าเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางทะเล

กัสดี ดา คอสตา

อินโดนีเซียกำลังเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงทางทะเลในหมู่เกาะสำคัญนอกชายฝั่ง ท่ามกลางความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นในภูมิภาค หมู่เกาะนาตูนาและเกาะโรเต ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ ถือเป็นแนวหน้าในโครงการนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลอินโดนีเซียในการปกป้องพรมแดนของประเทศและรักษาเสถียรภาพในน่านน้ำที่มีข้อพิพาท

“โครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงในเกาะนอกชายฝั่งของอินโดนีเซีย เช่น หมู่เกาะนาตูนาและเกาะโรเต สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศในการรักษาอธิปไตยและความสมบูรณ์ของดินแดน” นายทึคุ เรซาสยา ผู้บรรยายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยปัดจาดจารัน กล่าวกับ ฟอรัม

หมู่เกาะนาตูนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดหมู่เกาะรีเยาของอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ระหว่างเกาะบอร์เนียวและคาบสมุทรมาเลเซีย ใกล้กับขอบทางตอนใต้ของน่านน้ำที่มีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ รวมทั้งอยู่ใกล้กับเส้นทางเดินเรือสำคัญและพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากร นับตั้งแต่ พ.ศ. 2563 กองทัพเรือแห่งชาติอินโดนีเซียได้ส่งเรือฟริเกตและเรือลาดตระเวนไปประจำการรอบหมู่เกาะนาตูนาอย่างต่อเนื่อง โดยนายเฟลิกซ์ ชัง นักวิจัยอาวุโสที่สถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศในสหรัฐฯ เขียนข้อมูลนี้สำหรับสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 เรือลาดตระเวนของอินโดนีเซียสามารถขับไล่เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนที่แทรกแซงการสำรวจการเกิดแผ่นดินไหวใกล้หมู่เกาะนาตูนา ซึ่งเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีเรือประจำการที่แข็งแกร่ง “หมู่เกาะเหล่านี้ถือเป็นป้อมปราการแรกที่ปกป้องอธิปไตยของประเทศ” น.อ. มาร์เซลลัส ฮาเคง จายาวิบาวา ผู้เชี่ยวชาญทางทะเล กล่าวกับ ฟอรัม

การก่อสร้างฐานสนับสนุนปฏิบัติการของเรือดำน้ำในหมู่เกาะนาตูนากำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับขีดความสามารถให้กับกองทัพเรือแห่งชาติอินโดนีเซียในปฏิบัติการลาดตระเวนด้วยเรือดำน้ำในทะเลจีนใต้ที่ยาวนานและถี่มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กองทัพเรือแห่งชาติอินโดนีเซียยังได้จัดตั้งกลุ่มกองเรือรบทางทะเลที่ 1 บนเมืองรานายในหมู่เกาะนาตูนาเมื่อไม่นานมานี้ โดยได้รับการออกแบบมาเพื่อประสานงานการสนับสนุนสำหรับเรือรบที่ประจำการในพื้นที่และเรือที่ประจำการยังพื้นที่นั้น ตามรายงานของนายชัง

ในขณะเดียวกัน นายเรซาสยาระบุว่า ฐานทัพเรือในเมืองรานายได้ติดตั้งเรือลาดตระเวนและเรดาร์เฝ้าระวัง

เกาะโรเต ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับออสเตรเลียและติมอร์-เลสเต ถือเป็นจุดสำคัญในการเฝ้าระวังพรมแดนทางทะเลตอนใต้ของหมู่เกาะอินโดนีเซีย ฐานทัพเรือที่เกาะโรเต “ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานสำหรับปฏิบัติการทางทหาร การเฝ้าระวังทางทะเล และการบังคับใช้กฎหมาย” น.อ. จายาวิบาวากล่าว

มีการยกระดับการเฝ้าระวังผ่านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลอินโดนีเซียและชาวประมงท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในระบบการรายงานที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน “การทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมการเฝ้าระวังให้ดียิ่งขึ้น แต่ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างรัฐบาลกับชุมชนในพื้นที่ชายแดนอีกด้วย” น.อ. จายาวิบาวากล่าว

เรดาร์เฝ้าระวังที่อินโดนีเซียติดตั้งเพื่อจับตามองทะเลสุลาเวสี รวมถึงช่องแคบมะละกาและช่องแคบโมลุกกะ เป็นส่วนหนึ่งของระบบเฝ้าระวังทางทะเลแบบบูรณาการ ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายเรดาร์ชายฝั่ง กล้องถ่ายภาพ และระบบข้อมูลต่าง ๆ ระบบเฝ้าระวังทางทะเลแบบบูรณาการที่ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ได้แสดงประสิทธิภาพในการตรวจจับเรือต่างชาติที่เข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามรายงานของสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงจาการ์ตา ระบบเฝ้าระวังทางทะเลแบบบูรณาการมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรับมือกับการกระทำอันเป็นโจรสลัด การทำประมงที่ผิดกฎหมาย การลักลอบนำเข้าของเถื่อน และการก่อการร้ายภายในและโดยรอบพรมแดนทางทะเลของอินโดนีเซีย

ฐานทัพเรือที่เมืองรานายถือเป็นหนึ่งในฐานทัพขนาดใหญ่ของอินโดนีเซียที่ตั้งอยู่ใกล้กับพรมแดนทางตะวันออกของช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่พลุกพล่านที่สุดในโลก

นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ช่วยยกระดับความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคอีกด้วย น.อ. จายาวิบาวากล่าว อินโดนีเซียกำลังนำการเฝ้าระวังด้วยโดรนและการติดตามผ่านดาวเทียมมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังในพื้นที่ห่างไกล น.อ. จายาวิบาวากล่าวว่า “การใช้โดรนช่วยให้การเฝ้าระวังครอบคลุมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” พร้อมเสริมว่า ระบบไร้คนขับช่วยปรับปรุงเวลาในการตอบสนองต่อกิจกรรมผิดกฎหมายให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดการพรมแดนทางทะเลได้รับการสนับสนุนจากข้อตกลงร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ออสเตรเลีย มาเลเซีย และเวียดนาม

“การฝึกซ้อมร่วมทางทหารมักจัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามทางทะเล เช่น การลักลอบขนยาเสพติด การค้ามนุษย์ และภัยคุกคามจากผู้มีบทบาทในภาคเอกชน” น.อ. จายาวิบาวากล่าว “นอกจากนี้ยังมีความพยายามทางการทูตเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ความขัดแย้งในพื้นที่พิพาท โดยเฉพาะในทะเลนาตูนาเหนือ ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

แสดงความคิดเห็นที่นี่

ความเป็นส่วนตัวของคุณเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา หากคุณเลือกที่จะระบุที่อยู่อีเมลของคุณ เจ้าหน้าที่ของ ฟอรัม จะใช้เพื่อติดต่อกับคุณเท่านั้น เราจะไม่เปิดเผยหรือเผยแพร่ที่อยู่อีเมลของคุณ เฉพาะชื่อและเว็บไซต์ของคุณเท่านั้นที่จะปรากฏในความคิดเห็นของคุณ ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button