ทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หน่วยกำลังพลสำรอง “คอมคาด” ช่วยเสริมขีดความสามารถทางทหารของอินโดนีเซีย

กัสดี ดา คอสตา

หน่วยกำลังพลสำรองช่วยสนับสนุนกองกำลังประจำการของกองทัพอินโดนีเซียในการรับมือกับภัยคุกคามทั้งแบบตามแบบและภัยคุกคามรูปแบบใหม่

เดอะคอมโปเนน คาดางัน หรือ “คอมคาด” จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2564 หน่วยกำลังพลสำรองนอกเวลาแบบอาสาสมัครนี้แบ่งออกเป็นสามเหล่าทัพที่อยู่ภายใต้กองทัพอินโดนีเซีย ได้แก่ หน่วยกำลังพลสำรองทางบก หน่วยกำลังพลสำรองทางทะเล และหน่วยกำลังพลสำรองทางอากาศ ซึ่งรวมแล้วมีบุคลากรมากกว่า 9,000 นาย

คอมคาดแสดงให้เห็นถึงภาพรวมของยุทธศาสตร์กลาโหมที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2488 ของอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อให้พลเมืองทุกคนมีส่วนร่วมในภาคกลาโหมของประเทศ ตามคำกล่าวของ พล.ร.ต. อับดุล ริวาย รัส จากกองทัพเรืออินโดนีเซีย “หน่วยกำลังพลสำรองเป็นแนวคิดแบบสากล…เพื่อดำเนินยุทธศาสตร์กลาโหมแบบหลายชั้น และเพื่อเพิ่มขนาดและความแข็งแกร่งให้กับกองทัพอินโดนีเซีย” พล.ร.ต. ริวายกล่าวกับ ฟอรัม

ในพิธีต้อนรับบุคลากร 500 นายเข้าสู่คอมคาดในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 นายซาฟรี ซัมโซดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย กล่าวขอบคุณผู้สมัครที่เสียสละตนเอง “นี่คือหลักฐานของความตระหนักในฐานะประชาชนอินโดนีเซียที่พร้อมจะปกป้องประเทศ” นายซาฟรีกล่าว ตามข่าวประชาสัมพันธ์ของกระทรวงกลาโหม

นายซาฟรียังประกาศจัดตั้งกองบัญชาการหน่วยกำลังพลสำรองทางบกในเขตทหารที่ครอบคลุมเมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซีย นั่นคือ นูซันตารา ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออกบนเกาะบอร์เนียว

ผู้สมัครเข้าร่วมคอมคาดต้องเข้ารับการฝึกอบรมที่เข้มข้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับบทบาทพลเรือนและทหารของพวกเขา ตามรายงานของหนังสือพิมพ์คอมพาสของอินโดนีเซีย หลักสูตรฝึกอบรมสามเดือนประกอบด้วยการฝึกสมรรถภาพทางกาย ยุทธวิธีการรบ การนำทาง และทักษะการเอาชีวิตรอด

“เราสามารถส่งหน่วยกำลังพลสำรองไปปฏิบัติหน้าที่ได้ในกรณีที่ประเทศอยู่ในภาวะฉุกเฉินทางการทหารหรือภาวะสงครามที่เกิดจากภัยคุกคาม เช่น การรุกรานจากประเทศอื่น” พล.ร.ต. ริวายกล่าว

โปรแกรมกองกำลังสำรองยังออกแบบมาเพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นใหม่ โดยรวมถึงการฝึกป้องกันทางไซเบอร์และการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นายไครุล ฟาห์มี ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันศึกษาความมั่นคงและยุทธ์ศาสตร์ของอินโดนีเซีย กล่าว “มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การจำลองสถานการณ์แบบดิจิทัลและการฝึกอบรมแบบเสมือนจริงมาใช้ในการฝึกอบรมสมาชิกคอมคาด เพื่อสร้างสถานการณ์ทางทหารที่สมจริงและมีความหลากหลายมากขึ้น” นายฟาห์มีกล่าวกับ ฟอรัม

นายฟาห์มีกล่าวเสริมว่า บุคลากรของคอมคาดได้รับการฝึกอบรมให้สามารถผสานการทำงานร่วมกับกองกำลังประจำการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้พวกเขาสามารถเข้าร่วมปฏิบัติการร่วมได้โดยไม่เผชิญปัญหาด้านเทคนิคหรือความท้าทายด้านการประสานงานที่สำคัญ

อินโดนีเซียมักประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ และภูเขาไฟปะทุ พล.ร.ต. ริวายกล่าวว่าการขยายขนาดของคอมคาดจะช่วยเสริมและเร่งปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติของกองทัพอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการช่วยให้กองกำลังประจำการสามารถไปปฏิบัติภารกิจอื่น ๆ ได้

“ในฐานะทรัพยากรแห่งชาติแล้ว หน่วยกำลังพลสำรองจำเป็นต้องได้รับการสร้าง รักษา และพัฒนา เพื่อให้ความพร้อมของพวกเขาสามารถนำไปใช้งานได้จริง” พล.ร.ต. ริวายกล่าว “หน่วยกำลังพลสำรองเป็นขั้นตอนสำคัญในการเสริมสร้างพลังป้องปรามของชุมชนและรัฐ เพื่อให้มีความตระหนักต่อภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น เตรียมความพร้อมล่วงหน้า และเพิ่มความตื่นตัวในด้านการป้องกันประเทศอย่างต่อเนื่อง”

กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button