รายงาน: การโจมตีทางไซเบอร์ของจีนต่อไต้หวัน “รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ใน พ.ศ. 2567
รอยเตอร์
การโจมตีไซเบอร์ต่อหน่วยงานรัฐบาลไต้หวันเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าใน พ.ศ. 2567 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4 ล้านครั้งต่อวัน สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของเกาะไต้หวันที่ปกครองตนเองระบุ โดยการเจาะระบบส่วนใหญ่มาจากกองกำลังไซเบอร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
รัฐบาลจีนอ้างว่าไต้หวันเป็นดินแดนของตน และข่มขู่ว่าจะผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตนโดยใช้กำลัง รัฐบาลจีนได้เพิ่มแรงกดดันทางการทหารและทางการเมืองต่อรัฐบาลไต้หวัน รวมถึงการฝึกซ้อมทางทหารที่บ่อนทำลายเสถียรภาพในและบริเวณรอบ ๆ ช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญระดับโลก
สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติเปิดเผยรายละเอียดเบื้องลึกเกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์ โดยระบุว่าระบบโทรคมนาคม การขนส่ง และระบบด้านกลาโหม ตกเป็นเป้าหมายสำคัญ
“แม้ว่าจะสามารถตรวจพบและปิดกั้นการโจมตีส่วนใหญ่เหล่านั้นไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จำนวนการโจมตีที่เพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นถึงกิจกรรมการเจาะระบบของจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น” รายงานระบุ
จีนมักจะปฏิเสธว่าตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการโจมตีทางไซเบอร์ดังกล่าว ซึ่งการโจมตีดังกล่าวยังมุ่งเป้าไปยังประเทศอื่น ๆ รวมถึงสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
ไต้หวันได้ต่อสู้กับการโจมตีทางไซเบอร์ที่โหมกระหน่ำเข้ามาโดยการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและให้อำนาจแก่สังคมพลเมือง ตามรายงานของสภาแอตแลนติก ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 สหรัฐฯ ได้ประกาศว่าการสนับสนุนความยืดหยุ่นทางไซเบอร์ของไต้หวันเป็นเป้าหมายสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของกฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวันที่มีมาอย่างยาวนาน
สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติรายงานว่าการโจมตีบางส่วนดำเนินไปพร้อมกับการฝึกซ้อมทางทหารของพรรคคอมมิวนิสต์จีนรอบเกาะไต้หวัน ซึ่งรวมถึงการรบกวนการเข้าถึงหน้าเว็บไซต์ของสถาบันการเงินและระบบขนส่งของไต้หวัน การกระทำนี้มีเป้าหมายเพื่อ “ทวีความรุนแรงของผลกระทบจากการก่อกวนและการข่มขู่ทางทหาร”
รัฐบาลจีนจัดการฝึกซ้อมครั้งใหญ่รอบไต้หวันในเดือนพฤษภาคมและตุลาคม พ.ศ. 2567
รายงานระบุว่าจีนมุ่งเป้าไปที่อีเมลของข้าราชการไต้หวัน และทำการโจมตีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งรวมถึงวิศวกรรมสังคม เพื่อพยายามขโมยข้อมูลลับ
กองกำลังไซเบอร์ของจีนใช้เทคนิคต่าง ๆ รวมถึงการโจมตีแบบภัยคุกคามต่อเนื่องขั้นสูงและซอฟต์แวร์ช่องโหว่เพื่อพยายามแทรกซึมและโจมตีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ทางหลวงและท่าเรือ “ความพยายามเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อรบกวนการดำเนินงานของรัฐบาลไต้หวัน รวมถึงการสร้างความได้เปรียบในด้านการเมือง การทหาร เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ” รายงานระบุ