ฟิลิปปินส์เร่งสนับสนุนอุตสาหกรรมกลาโหมภายในประเทศ

มาเรีย ที. เรเยส
กฎหมายและโครงการใหม่ผลักดันความพยายามของฟิลิปปินส์ในการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองมากขึ้นในด้านนวัตกรรมและการจัดซื้อทางกลาโหม
หลังจากที่เคยพึ่งพาอุตสาหกรรมกลาโหมของประเทศอื่น ๆ มาอย่างยาวนาน รัฐบาลฟิลิปปินส์จึงมีมติผ่านกฎหมายฟื้นฟูการแสดงท่าทีในการป้องกันตนเองในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 เพื่อเสริมสร้างภาคอุตสาหกรรมกลาโหมภายในประเทศโดยมีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การลดหย่อนภาษีและการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล
กฎหมายนี้เกิดขึ้นเมื่อกองทัพฟิลิปปินส์เดินหน้าเสริมสร้างขีดความสามารถของตนเองต่อไปท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งรวมถึงการเผชิญหน้ากันในทะเลและข้อพิพาททางการทูตที่ยืดเยื้อ รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้จัดสรรงบประมาณราว 1.19 ล้านล้านบาท (ประมาณ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการปรับปรุงความทันสมัยให้กองทัพฟิลิปปินส์ในช่วงสิบปีข้างหน้า
กฎหมายฟื้นฟูนี้จะช่วยให้ฟิลิปปินส์ลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากต่างประเทศและผลประโยชน์จาก “ฝ่ายอื่น ๆ” นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กล่าวในพิธีลงนาม “นี่เป็นก้าวต่อไปที่ดูสมเหตุสมผลสำหรับประเทศที่ตระหนักว่าตนเองอยู่ในจุดศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ จุดมุ่งหมายหลักของกฎหมายนี้คือการสร้างอุตสาหกรรมกลาโหมที่แข็งแกร่งและยั่งยืน” นายมาร์กอสกล่าว
“เราจะให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาระบบที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะของเรา และเพื่อก้าวนำภัยคุกคามที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภัยคุกคามแบบอสมมาตรที่ระบบแบบดั้งเดิมไม่อาจจัดการได้ทั้งหมด” นายมาร์กอสกล่าวเสริม
อีกทั้งยังกล่าวว่ากลยุทธ์เบื้องหลังกฎหมายนี้มีความชัดเจน นั่นคือ “เริ่มจากการเสริมสร้างรากฐาน ทั้งด้านการวิจัย ความสามารถด้านการผลิต และการสนับสนุนจากสถาบัน แล้วค่อย ๆ สร้างขึ้นไปทีละขั้น จนกระทั่งเรามีอุตสาหกรรมที่สามารถยืนหยัดและประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวเอง”
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 กระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ประกาศว่ากฎหมายนี้จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอาวุธและกระสุน ยานพาหนะทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ระบบการสื่อสารและการเฝ้าระวัง และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น โดรนและเครื่องมือความมั่นคงทางไซเบอร์
นอกจากการเสริมสร้างความสามารถของกองทัพฟิลิปปินส์ในการปกป้องประเทศและรักษาสันติภาพและความมั่นคงแล้ว โครงการเหล่านี้จะสร้างงานในท้องถิ่นในด้านการผลิต เทคโนโลยี และการวิจัย และกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม กระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ระบุ
พล.ร.ต. รอมเมล จูด ออง ผู้เกษียณอายุราชการจากกองทัพเรือฟิลิปปินส์ กล่าวว่า การรุกรานยูเครนโดยไม่มีเหตุอันสมควรของรัสเซียและความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมภายในประเทศที่สามารถสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารอย่างต่อเนื่อง
ฟิลิปปินส์อาจมองดูอินโดนีเซียและเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างในการสร้างอุตสาหกรรมกลาโหมของตน พล.ร.ต. อองกล่าวกับ ฟอรัม
“รัฐบาลของพวกเขาได้ลงทุนในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น การผลิตเครื่องบินและการต่อเรือ พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับการถ่ายโอนเทคโนโลยีใหม่ ๆ อีกทั้งยังลงทุนในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์สำหรับแรงงานในประเทศและสร้างนวัตกรรมผ่านการวิจัยและพัฒนา” พล.ร.ต. อองกล่าว
“การแก้ไขปัญหาห่วงโซ่อุปทานต้องใช้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ภาควิชาการ และอุตสาหกรรม” พล.ร.ต. อองกล่าวเสริม “ท้ายที่สุดแล้ว อุตสาหกรรมกลาโหมควรเป็นกิจการที่ทำกำไรได้ โดยมีตลาดระดับโลกหรือตลาดระดับภูมิภาคเป็นเป้าหมาย”
หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ประสบความสำเร็จคือในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เมื่อกองทัพเรือฟิลิปปินส์ได้เปิดตัวเรือสกัดกั้นและจู่โจมเร็ว ชาลดัก หรือ “คิงฟิชเชอร์” ในรุ่นที่ประกอบในประเทศ จากบริษัทอิสราเอล ชิปยาร์ดส์ จำกัด ตามสัญญาการถ่ายโอนเทคโนโลยี พ.ศ. 2564
กระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์กำลังสำรวจข้อตกลงที่คล้ายกันกับญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 นายกิลแบร์โต เตโอโดโร จูเนียร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ และนายเก็น นากาทานิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ได้หารือเกี่ยวกับการผลิตร่วมและการถ่ายโอนเทคโนโลยีนอกรอบการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของนานาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ลาว
มาเรีย ที. เรเยส เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์