ความร่วมมือโอเชียเนีย

พันธมิตรและหุ้นส่วนให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในวานูอาตูที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ได้ให้ความช่วยเหลือวานูอาตูหลังเกิดแผ่นดินไหวที่เมืองหลวงพอร์ตวิลา ในช่วงกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567

แผ่นดินไหวขนาด 7.6 ได้ทำลายอาคารบ้านเรือน ทำให้สะพานแตกเป็นรอย ทะลายน้ำในอ่างเก็บน้ำ ทำให้ระบบสื่อสารและอินเทอร์เน็ตล่ม และส่งผลให้ท่าเรือหลักต้องปิดใช้งาน ทางการระบุว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 คนและบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้พลัดถิ่นกว่า 1,000 คน และประชาชนประมาณ 20,000 คนขาดแคลนน้ำดื่ม ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

วานูอาตูเป็นประเทศหมู่เกาะที่มีเกาะมากกว่า 80 แห่งในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ระหว่างออสเตรเลียและฟิจิ มีประชากรประมาณ 320,000 คน ซึ่งที่แห่งนี้มีความเสี่ยงสูงต่อภัยธรรมชาติ เช่น พายุไซโคลน แผ่นดินไหว และภูเขาไฟ รวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ส่วนใหญ่อยู่บนเกาะเอฟาเตที่เป็นเกาะหลัก

องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ได้มอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นจำนวน 8.54 ล้านบาท (ประมาณ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ) และส่งทีมไปยังพอร์ตวิลา ซึ่งมีการเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือล่วงหน้าไว้แล้ว

“สหรัฐอเมริกา มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนรัฐบาลวานูอาตูในการตอบสนองต่อความต้องการฉุกเฉินของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และช่วยพวกเขาฟื้นตัวจากผลกระทบของแผ่นดินไหว โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรของเราอย่างใกล้ชิด รวมถึงฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์” นางแอนน์ มารี ยาสติชอก เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์หลังสำรวจความเสียหาย รวมถึงอาคารที่ปิดใช้งาน ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของสถานทูตฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ

ออสเตรเลียได้จัดงบประมาณช่วยเหลือมูลค่า 43.07 ล้านบาท (ประมาณ 1.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งรวมถึงทีมช่วยเหลือภัยพิบัติ 64 คน และสุนัขค้นหาและกู้ภัย 2 ตัว ทีมการแพทย์และการตอบสนองต่อวิกฤต เจ้าหน้าที่ตำรวจกลาง และเจ้าหน้าที่ประสานงานจากสำนักงานบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินแห่งชาติได้เข้าร่วมในความพยายามช่วยเหลือของรัฐบาลออสเตรเลียในครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังประกาศเพิ่มเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอีก 105.96 ล้านบาท (ประมาณ 3.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หลังเกิดแผ่นดินไหวลูกที่สองในวานูอาตูไม่กี่วันถัดมา

“ออสเตรเลียและวานูอาตูมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและยั่งยืน พวกเราคือครอบครัว และเราจะอยู่เคียงข้างกันเสมอในยามจำเป็น” นางเพนนี หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย และนายแมตต์ โคห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาระหว่างประเทศ ร่วมกล่าวในแถลงการณ์

ทีมจากออสเตรเลียได้จัดส่งอุปกรณ์หนัก 22 ตัน และใช้โดรนเพื่อตรวจสอบความเสียหายจากดินถล่ม

ฝรั่งเศสส่งเฮลิคอปเตอร์ทหารพร้อมระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม และวิศวกรทหารที่ตรวจสอบรันเวย์สนามบินพอร์ตวิลาให้สามารถรองรับเที่ยวบินที่ให้ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้ ทางฝั่งของญี่ปุ่นส่งทีมสนับสนุนการแพทย์และจัดหาเสบียงฉุกเฉินต่าง ๆ ผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งในที่นี้รวมถึงเครื่องกรองน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

ทีมงานจากกองทัพอากาศนิวซีแลนด์ใช้เครื่องบิน พี-8เอ โพไซดอน เพื่อสำรวจความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพอร์ตวิลาและเกาะใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ได้ใช้ภาพถ่ายจากการบินเพื่อตรวจสอบความเสียหายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เครื่องบิน เฮอร์คิวลิส ของกองทัพอากาศนิวซีแลนด์จำนวน 2 ลำได้ขนส่งเจ้าหน้าที่ค้นหาและกู้ภัย บุคลากรจากหน่วยงานรัฐบาล และอุปกรณ์จากฐานทัพอากาศนิวซีแลนด์ในเมืองออกแลนด์

นายเจมส์ มาราเป นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี กล่าวว่าสภาบริหารแห่งชาติได้อนุมัติเงินช่วยเหลือมูลค่า 169.87 ล้านบาท (ประมาณ 4.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อส่งทรัพยากร รวมถึงวิศวกร แพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์จากกองทัพปาปัวนิวกินี

ความช่วยเหลือนี้ “แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราที่จะยืนหยัดเคียงข้างประเทศเพื่อนบ้านในแปซิฟิกในยามที่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือ” นายมาราเปกล่าว “นี่ไม่ใช่แค่เรื่องการส่งมอบความช่วยเหลือเท่านั้น แต่ยังเป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นร่วมกันของเราในฐานะครอบครัวแปซิฟิก เมื่อมีใครสักคนได้รับผลกระทบ เราทุกคนจะยืนหยัดเคียงข้าง”

วานูอาตูกำลังเผชิญกับความยากลำบากทางการเงินก่อนเกิดภัยพิบัติครั้งล่าสุดอยู่ก่อนแล้ว วานูอาตูมีหนี้สินจำนวนมากจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของสาธารณรัฐประชาชนจีน กองทุนการเงินระหว่างประเทศเพิ่งจัดอันดับให้วานูอาตูอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาหนี้สิน หลังจากเกิดพายุไซโคลนทำลายล้างถึงสองครั้งใน พ.ศ. 2566 และการล้มละลายของสายการบินแห่งชาติแอร์วานูอาตู ซึ่งส่งผลให้อัตราการเติบโตของรายได้ของประเทศย่ำแย่ลง

การรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวของสหรัฐฯ ครั้งนี้เป็นการสานต่อความช่วยเหลือที่มีให้วานูอาตูหลังเหตุพายุไซโคลนใน พ.ศ. 2566 องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ดำเนินงานตลอดทั้งปีเพื่อช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นสร้างความทนทานและรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติ ความช่วยเหลือนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และวานูอาตู ซึ่งแสดงให้เห็นผ่านการเปิดสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ที่พอร์ตวิลาใน พ.ศ. 2567 ตามรายงานขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button