ทรัพยากรส่วนรวมของโลกเอเชียใต้

การเชื่อมต่อดาวเทียมผลักดันเป้าหมายด้านเทคโนโลยีอวกาศของอินเดีย

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

อินเดียได้ทำการเชื่อมต่อดาวเทียมสองดวงในอวกาศเมื่อกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2568 ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่สี่ของโลกที่ประสบความสำเร็จในภารกิจนี้ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในแผนอันมุ่งมั่นของรัฐบาลอินเดียในการขยายเทคโนโลยีอวกาศ

องค์การวิจัยอวกาศอินเดียได้ควบคุมการเคลื่อนย้ายดาวเทียมสองดวง แต่ละดวงน้ำหนัก 220 กิโลกรัม ในการทดลองเชื่อมต่อดาวเทียมในอวกาศที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งรู้จักกันในชื่อ สปาเด็กซ์ องค์การดังกล่าวระบุว่าการปฏิบัติการนี้ถือเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์

ดาวเทียมทั้งสองดวง เชสเซอร์และทาร์เก็ต ได้รับการปล่อยตัวจากจรวดเดียวกันจากศูนย์อวกาศซาติชดาวันที่ศรีหริโคตาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567

“อินเดียได้จารึกชื่อของตัวเองในประวัติศาสตร์อวกาศ!” องค์การวิจัยอวกาศอินเดียโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์ “หลังจากการเชื่อมต่อดาวเทียม การควบคุมดาวเทียมทั้งสองดวงเป็นวัตถุเดียวกันประสบความสำเร็จ”

นายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย กล่าวว่านี่คือ “ก้าวสำคัญสำหรับภารกิจอวกาศที่มีความมุ่งมั่นของอินเดียในปีต่อ ๆ ไป”

สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และสาธารณรัฐประชาชนจีนเคยประสบความสำเร็จในภารกิจนี้มาก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสถานะที่เพิ่มขึ้นของอินเดียในฐานะมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีและอวกาศ

ขีดความสามารถด้านอวกาศที่ได้รับการยกระดับยังช่วยเสริมการป้องปรามด้วย เนื่องจากดาวเทียมและข้อมูลข่าวกรองจากอวกาศอื่น ๆ สามารถเพิ่มความตระหนักรู้และประสิทธิภาพทางทหาร

ใน พ.ศ. 2566 นายโมทีกล่าวว่า องค์การวิจัยอวกาศอินเดียจะสร้างสถานีอวกาศที่ผลิตในประเทศภายใน พ.ศ. 2578 และจะส่งนักบินอวกาศอินเดียไปยังดวงจันทร์ภายใน พ.ศ. 2583

อินเดียได้ทำการวิจัยด้านอวกาศมาตั้งแต่ พ.ศ. 2503 และได้ส่งดาวเทียมสำหรับตัวเองและประเทศอื่น ๆ รวมถึงการส่งดาวเทียมหนึ่งดวงขึ้นไปในวงโคจรรอบดาวอังคารใน พ.ศ. 2557

อินเดียกลายเป็นประเทศแรกที่นำยานอวกาศลงจอดใกล้กับขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ใน พ.ศ. 2566 ในการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์สู่พื้นที่ที่ยังไม่เคยมีการสำรวจ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอาจมีแหล่งน้ำแข็งสำรองที่สำคัญ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button