ความร่วมมือเรื่องเด่น

การป้องปราม ร่วมกัน

พันธมิตรและหุ้นส่วนร่วมมือกันปกป้องจากศ ัตรูที่มีร่วมกันและภัยคุกคามที่เกิดขึ้นใหม่

เจ้าหน้าที่ เซนทรี

ความตึงเครียดระหว่างคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ การขยายขีดความสามารถในการใช้อาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องของเกาหลีเหนือ และความพยายามของรัสเซียในการเปลี่ยนแปลงสมดุลอำนาจในยุโรปผ่านการทำสงครามกับยูเครน ได้กระตุ้นให้สหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนต้องปรับปรุงยุทธศาสตร์ให้ทันสมัย เพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงในศตวรรษที่ 21 การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและยุโรป อาจส่งผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืนมาอย่างยาวนาน พันธมิตร เช่น องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต และความร่วมมือด้านความมั่นคงที่กำลังเติบโตในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ได้รับมือกับความท้าทายเหล่านี้ผ่านการเชื่อมโยงแผนการทางกลาโหมที่ครอบคลุมสมรภูมิรบทั่วโลก

“นับเป็นครั้งแรกที่นาโตและแผนการทางกลาโหมมีความสอดคล้องกันเป็นอย่างมาก” พล.ร.อ. ร็อบ บาวเออร์ ประธานคณะกรรมการการทหารของพันธมิตรด้านความมั่นคง กล่าวหลังการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 “พันธมิตรกำลังดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้แผนการทางกลาโหมฉบับใหม่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ นาโตมีความเข้มแข็งและความพร้อมมากกว่าที่เคยเป็น เรามีความก้าวหน้าอย่างมากในแผนการทางกลาโหมร่วมกัน”

ความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางทหารตลอดหลายทศวรรษจะช่วยเสริมสร้างความก้าวหน้าที่จำเป็นในการให้การศึกษา การฝึกอบรม และการจัดหาอุปกรณ์ให้กับกองกำลังของพันธมิตรและหุ้นส่วน เพื่อเตรียมพร้อมในการป้องกันการโจมตีในโลกไซเบอร์และอวกาศ นอกเหนือจากการโจมตีภาคพื้นดิน อากาศ และทะเล “ความมั่นคงทั้งหมดเชื่อมโยงกัน และทำให้การพูดคุยกับหุ้นส่วนแบบตัวต่อตัวเกี่ยวกับความคืบหน้าที่เกี่ยวข้องกับเราทุกคนมีความสำคัญยิ่งขึ้น” พล.ร.อ.
บาวเออร์กล่าว “การพบปะกับหุ้นส่วนทำให้เราตระหนักว่าไม่มีประเทศใดต้องเผชิญกับความท้าทายหรือภัยคุกคามอย่างโดดเดี่ยว ตราบใดที่คุณมีประเทศหุ้นส่วน คุณก็จะมีทางเลือกที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่า”

นาโตเข้มแข็งและพร้อมรับมือได้ดียิ่งขึ้น

นับเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่นาโตมีแผนยุทธศาสตร์การป้องปรามและการป้องกันประเทศเพื่อทำให้พันธมิตร “พร้อมรับมือกับการป้องกันดินแดนร่วมกัน” พล.อ. คริสโตเฟอร์ คาโวลี ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำยุโรป และผู้บัญชาการทหารสูงสุดของนาโตประจำยุโรป กล่าวภายหลังการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

การทำให้แผนเหล่านั้นประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมีการจัดสรรกำลังพลและการวางระเบียบคำสั่งอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมและการฝึกซ้อมที่เข้มงวด เช่น
การฝึกสเตดฟาสต์ ดีเฟนเดอร์ พ.ศ. 2567 การฝึกครั้งใหญ่ที่สุดของนาโตในรอบหลายทศวรรษ มีบุคลากรเข้าร่วม 90,000 คนจากประเทศพันธมิตรทั้งหมด 32 ประเทศ

ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม การฝึกสเตดฟาสต์ ดีเฟนเดอร์
ประกอบด้วยการซ้อมรบที่จัดขึ้นโดยหลายประเทศ ส่วนที่ 1 มุ่งเน้นการเสริมกำลังข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งรวมถึงการวางกำลังทหารเชิงยุทธศาสตร์จากอเมริกาเหนือไปยังแอตแลนติกและยุโรป การฝึกทางทะเลในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับปฏิบัติการจริง และการฝึกโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก ส่วนที่ 2 มุ่งเน้นการฝึกซ้อมหลายมิติทั่วยุโรป ซึ่งแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของนาโตทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ พร้อมทดสอบการส่งกำลังพลและอุปกรณ์ข้ามพรมแดนระหว่างพันธมิตรได้อย่างรวดเร็ว

การฝึกสเตดฟาสต์ ดีเฟนเดอร์เน้นย้ำเกี่ยวกับ “การแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพ ความแข็งแกร่ง และความมุ่งมั่นในการปกป้องกันและกัน ค่านิยม และระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา” พล.อ. คาโวลีกล่าว

แม้การปรับเปลี่ยนทางทหารร่วมกันจะประสบความสำเร็จ แต่ยังจำเป็นต้องพัฒนาต่อไปเพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง ตามรายงานของ พล.อ.อ. คริส บาเดีย แห่งกองทัพอากาศเยอรมนี รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของนาโต

“พวกเราในฐานะพันธมิตรจำเป็นต้องมั่นใจว่ามีความคล่องตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งดำเนินการผ่านแนวทางการเปลี่ยนแปลงที่ทุกฝ่ายตกลงร่วมกัน” พล.อ.อ. บาเดียกล่าวภายหลังการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของนาโต “เมื่อการสู้รบในอนาคตมีความซับซ้อนขึ้นในหลายมิติ เราจำเป็นต้องมั่นใจว่าเรารวดเร็วมากพอและมีศักยภาพเหนือกว่าคู่แข่งในทุก ๆ ด้าน การเปลี่ยนแปลงนี้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาของประเทศ และเป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วจบไป แนวทางการเปลี่ยนแปลงทางการรบของเราเป็นการขยายขอบเขตและสร้างความได้เปรียบร่วมกัน เพื่อให้เราพัฒนาขึ้นในทุกวัน

พันธมิตรและหุ้นส่วนพัฒนาผ่านปฏิบัติการแบบบูรณาการหลายมิติ และทำงานร่วมกันเพื่อให้การส่งกำลังระหว่างกันเป็นไปอย่างราบรื่นในทุกด้าน “เรากำลังระบุขีดความสามารถที่จำเป็นทั้งในระดับบุคคลและร่วมกัน โดยมุ่งเน้นที่ความรวดเร็วและความแข็งแกร่ง” พล.อ.อ. บาเดียกล่าว “และขีดความสามารถเป็นรากฐาน เพราะหากไม่มีขีดความสามารถ เราจะไม่สามารถรับมือกับสิ่งใดได้”

ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของคณะกรรมการทหารในพฤษภาคม พ.ศ. 2567 พล.ร.อ. บาวเออร์กล่าวว่า กองทัพพันธมิตรสามารถทำให้แผนป้องกันประเทศฉบับใหม่ของนาโตเป็นไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพโดยการ

  • การเตรียมกำลังพลให้พร้อมรบมากขึ้น
  • การเสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถ
  • การปรับโครงสร้างการบังคับบัญชาและการควบคุม
  • การสร้างและการรักษาความสามารถเพิ่มเติม เช่น การจัดการ
  • โลจิสติกส์ การสนับสนุนจากประเทศเจ้าภาพ การบำรุงรักษา ความเคลื่อนไหวทางทหาร รวมถึงการเติมเต็มและการเตรียมเสบียงล่วงหน้า

“จากการฝึกสเตดฟาสต์ ดีเฟนเดอร์ครั้งล่าสุด นาโตมีความเข้มแข็งและความพร้อมมากกว่าที่เคยเป็น และยังคงพัฒนาความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องทุกวัน” พล.ร.อ. บาวเออร์กล่าว “เรามีความสามารถในการพัฒนาต่อยอดจากผลงานที่สำเร็จแล้ว”

หลีกเลี่ยงความขัดแย้งครั้งใหญ่

ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการป้องปรามการรุกรานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและการรักษาสมดุลอำนาจในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ออสเตรเลียและสหรัฐฯ ได้พัฒนายุทธศาสตร์การป้องปรามร่วม โดยให้บทบาทออสเตรเลียในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับการแสดงตนทางทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาค ตามรายงานเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ในหัวข้อ “การป้องปรามร่วมและแนวโน้มความขัดแย้งครั้งใหญ่” ของศูนย์สหรัฐอเมริกาศึกษา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมอเมริกันออสเตรเลียและมหาวิทยาลัยซิดนีย์

ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการป้องปรามการรุกรานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและการรักษาสมดุลอำนาจในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ออสเตรเลียและสหรัฐฯ ได้พัฒนายุทธศาสตร์การป้องปรามร่วม โดยให้บทบาทออสเตรเลียในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับการแสดงตนทางทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาค ตามรายงานเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ในหัวข้อ “การป้องปรามร่วมและแนวโน้มความขัดแย้งครั้งใหญ่” ของศูนย์สหรัฐอเมริกาศึกษา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมอเมริกันออสเตรเลียและมหาวิทยาลัยซิดนีย์

พล.อ. คัง ชินชอล รองผู้บัญชาการกองกำลังผสมเกาหลีใต้ (กลาง) กำลังตรวจสอบเครื่องบิน เอฟ-16 ไฟท์ติ้ง ฟัลคอน ในระหว่างการฝึกซ้อมฟรีดอม ชีลด์ เป็นเวลา 11 วัน ณ ฐานทัพอากาศโอซาน ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 จ.ท. อลิซาเบธ เดวิส/กองทัพอากาศสหรัฐฯ

ทั้งสองประเทศได้ปรับเปลี่ยนแนวทางด้านกลาโหม เช่น ยุทธศาสตร์ด้านกลาโหมของสหรัฐฯ พ.ศ. 2565 ระบุว่า พันธมิตรและหุ้นส่วนคือ “จุดศูนย์กลางของความสำคัญ” และการทบทวนบทบาทนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ พ.ศ. 2565 กล่าวถึงออสเตรเลียเป็นครั้งแรกในบริบทของการใช้ขีดความสามารถที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ของพันธมิตรและหุ้นส่วนในการสนับสนุนการป้องปรามนิวเคลียร์ ตามรายงานของศูนย์สหรัฐอเมริกาศึกษา ออสเตรเลียระบุว่าความมั่นคงร่วมกันเป็นหัวใจหลักของยุทธศาสตร์ด้านกลาโหมในภูมิภาค และในยุทธศาสตร์ด้านกลาโหม พ.ศ. 2567 ยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการมุ่งเน้นการป้องปรามผ่านการปฏิเสธมากยิ่งขึ้น

ในส่วนอื่น ๆ ของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ความสัมพันธ์ทวิภาคีได้ถูกปรับปรุงและขยายเพื่อรวมประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการปกป้องวิสัยทัศน์ของอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ท่ามกลางการขยายกำลังทางทหารของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและการยั่วยุจากเกาหลีเหนือที่ฝ่าฝืนมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ผู้นำออสเตรเลียและญี่ปุ่นได้หารือถึงความท้าทายทางยุทธศาสตร์ที่มีร่วมกัน และทั้งสองประเทศมีข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกองทัพออสเตรเลียและกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ข้อตกลงการเข้าถึงแบบทวิภาคีของทั้งสองประเทศได้มีผลบังคับใช้ ข้อตกลงนี้จะเสริมสร้างความร่วมมือไตรภาคีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และยกระดับความสามารถในการปฏิบัติงานร่วมกัน โดยอำนวยความสะดวกให้กองทัพออสเตรเลียและกองทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น และกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นและกองทัพสหรัฐฯ ในออสเตรเลีย ช่วงต้น พ.ศ. 2567 ออสเตรเลียและญี่ปุ่นลงนามข้อตกลงการวิจัยว่าด้วยสงครามใต้ทะเล เพื่อสร้างขีดความสามารถทางยุทธศาสตร์ด้านการสื่อสารใต้ทะเลและความสามารถในการทำงานร่วมกัน “การรักษาความได้เปรียบทางเทคโนโลยีในสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วถือเป็นสิ่งสำคัญ” ตามรายงานในแถลงการณ์ของกองทัพออสเตรเลีย ความร่วมมือนี้ “สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการป้องกันที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างออสเตรเลียและญี่ปุ่น เมื่อร่วมมือกันทำให้เราบรรลุผลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เราไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง”

นอกจากนี้ รายงานของศูนย์สหรัฐอเมริกาศึกษายังได้ระบุถึงเครือข่ายหุ้นส่วนด้านกลาโหมที่สำคัญระหว่างประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันเพื่อการป้องปรามเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงการประสานงานระหว่างอินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตลอดจนระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ด้วย ขณะเดียวกัน ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสมาชิกของความร่วมมืออูกัส ก็กำลังพิจารณาความร่วมมือกับญี่ปุ่น

รายงานดังกล่าวระบุว่า “โครงการริเริ่มทั้งหมดนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ป้องปราม และหากจำเป็น ยังสามารถปกป้องจากคู่แข่งที่ต้องการปรับเปลี่ยนระเบียบภูมิภาคให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของตน”

หนึ่งในความกังวลหลักของพันธมิตรและหุ้นส่วนคือการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและโครงการขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ “ทั้งสองเหตุการณ์ดำเนินไปอย่างรวดเร็วและไร้ซึ่งความโปร่งใส” รายงานของศูนย์สหรัฐอเมริกาศึกษาระบุ “เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลจีนและรัฐบาลเกาหลีเหนือกำลังขยายคลังแสงและเพิ่มความหลากหลายให้กับกองทัพ ซึ่งทำให้สามารถข่มขู่ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ได้ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ ชาวอเมริกันและออสเตรเลียหลายคนกังวลว่า นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และนายคิม จองอึน ผู้นำของเกาหลีเหนือ อาจจะเรียนรู้บทเรียนที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้การข่มขู่ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ในการรุกรานยูเครนโดยปราศจากการยั่วยุของนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ต่อประเทศสมาชิกนาโต (กล่าวคือ โดยสรุปแล้ว การข่มขู่ด้วยอาวุธนิวเคลียร์สามารถป้องปรามการแทรกแซงจากตะวันตก และอาจใช้ยุทธศาสตร์นี้เพื่อผลประโยชน์ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก)”

ปฏิญญาวอชิงตันเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 มีเป้าหมายเพื่อลดความหวาดกลัวในประเด็นดังกล่าว โดยนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น และนายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้น้ ได้ร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีของความเป็นพันธมิตรระหว่างทั้งสองประเทศ ด้วยการยืนยัน “ความสัมพันธ์ทางกลาโหมที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” และยืนยัน “การร่วมมือทางกลาโหมภายใต้สนธิสัญญาการป้องกันร่วมระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้” ปฏิญญาดังกล่าวระบุ

“เกาหลีใต้มีความมั่นใจในความมุ่งมั่นด้านการป้องปรามที่ขยายของสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ และตระหนักถึงความสำคัญ ความจำเป็น และประโยชน์ของการพึ่งพาการป้องปรามอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง” ปฏิญญาดังกล่าวระบุ “สหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะหารือกับเกาหลีใต้เกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี ตามนโยบายที่กำหนดในการทบทวนบทบาทนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ และจะรักษาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่มีความแข็งแกร่งเพื่ออำนวยความสะดวกใน การหารือดังกล่าว”

นอกจากนี้ ผู้นำของทั้งสองประเทศยังได้จัดตั้งกลุ่มปรึกษาด้านนิวเคลียร์ เพื่อเสริมสร้างการป้องปรามเชิงยุทธศาสตร์ หารือเกี่ยวกับการวางแผนทางนิวเคลียร์และยุทธศาสตร์ รวมถึงการจัดการกับภัยคุกคาม

“เกาหลีฟื้นตัวจากความสูญเสียของสงครามและกลายเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของชุมชนระหว่างประเทศ ปัจจุบัน การเป็นพันธมิตรระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ เปรียบเสมือนแกนหลักของสันติภาพและเสถียรภาพ ไม่เพียงในคาบสมุทรเกาหลี แต่ยังครอบคลุมไปทั่วโลก” นายยุนกล่าวระหว่างการประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดี
ไบเดน “การเป็นพันธมิตรของเราคือการเป็นพันธมิตรแห่งค่านิยมตามค่านิยมสากลของเสรีภาพและประชาธิปไตยที่เรามีร่วมกัน”

นายยุนยกย่องการเป็นพันธมิตรนี้ว่าเปี่ยมไปด้วยความแข็งแกร่งและยั่นยืน “เมื่อร่วมมือกัน เราจะสามารถแก้ไขทุกปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างเราได้ด้วยการปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิด” นายยุนกล่าว

การปกป้องเสรีภาพและความมั่นคง

การป้องปรามและการป้องกันเป็นหัวใจสำคัญของภารกิจนาโต โดยยึดมั่นในท่าทีทางทหารที่น่าเชื่อถือ ซึ่งครอบคลุมทั้งขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ อาวุธตามแบบ และระบบป้องกันขีปนาวุธ พร้อมทั้งเสริมด้วยการป้องกันในมิติอวกาศและไซเบอร์ สงครามของรัสเซียในยูเครนถือเป็น “ภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุด” ต่อความมั่นคงในยูโรแอตแลนติกในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งทำลายสันติภาพในภูมิภาคและย้ำเตือนถึงความจำเป็นที่นาโตต้องเสริมสร้างท่าทีทางทหารที่มั่นคงและแข็งแกร่ง ตามรายงานในคำแถลงของกลุ่มพันธมิตร

“นาโตต้องเผชิญกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงที่ซับซ้อนที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น สงครามรุกรานยูเครนของรัสเซียกำลังก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความมั่นคงในยุโรป ขณะที่การก่อการร้ายยังคงเป็นความท้าทายด้านความมั่นคงระดับโลกและภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทั่วโลก” นาโตระบุ “ในขณะเดียวกัน ความทะเยอทะยานและนโยบายบีบบังคับของจีนก็ก่อให้เกิดความท้าทายต่อผลประโยชน์ ความมั่นคง และค่านิยมของการเป็นพันธมิตร ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ภัยคุกคามทางไซเบอร์และไฮบริดที่ซับซ้อนและรุนแรงขึ้น บทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของอาวุธนิวเคลียร์ในยุทธศาสตร์ของคู่แข่งที่อาจเกิดขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว กำลังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเป็นพันธมิตร”

เป้าหมายของการก่อตั้งนาโตคือการป้องกันไม่ให้สหภาพโซเวียตขยายอิทธิพลไปยังยุโรปตะวันออกและพื้นที่อื่น ๆ ในทวีป หัวใจสำคัญของสนธิสัญญาพันธมิตรคือมาตรา 5 ที่กำหนดให้สมาชิกทุกประเทศร่วมกันป้องกันในกรณีที่มีการโจมตีประเทศใดประเทศหนึ่งในนาโต

การป้องปรามยังคงเป็นเป้าหมายหลัก โดยยุทธศาสตร์ของนาโตมุ่งป้องกันความขัดแย้งและสงคราม ปกป้องพันธมิตร รักษาเสรีภาพในการตัดสินใจและการกระทำ รวมถึงยึดมั่นในหลักการและค่านิยม เช่น เสรีภาพของบุคคล ระบอบประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม

หลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงถึงความแข็งแกร่งและขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นของการเป็นพันธมิตรในการปกป้องเสรีภาพและความมั่นคง คือการเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนในการใช้จ่ายด้านกลาโหมของประเทศสมาชิก ใน พ.ศ. 2567 ประเทศพันธมิตรนาโตในยุโรปได้ลงทุนเป็นมูลค่ารวม 13 ล้านล้านบาท (ประมาณ 3.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในด้านกลาโหม ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศรวมกันเป็นครั้งแรก ตามการประกาศของนายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การนาโต ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 “เรากำลังสร้างความก้าวหน้าอย่างแท้จริง” นายสโตลเทนเบิร์กกล่าว

ความเสี่ยงในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพเพิ่มสูงขึ้น และการเป็นพันธมิตร เช่น นาโตกำลังปฏิบัติตามภารกิจเหล่านั้น ในการเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปีของนาโตในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 พล.ร.อ. บาวเออร์กล่าวว่า “คำปฏิญาณอันศักดิ์สิทธิ์” ของกองกำลังพันธมิตรได้ปกป้อง “มากกว่าความปลอดภัยทางกายภาพ”

“เรากำลังก้าวไปข้างหน้าด้วยกันในการปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตย” พล.ร.อ. บาวเออร์กล่าว ทั่วยุโรปและอเมริกาเหนือ มีชายหญิงในเครื่องแบบจำนวน 3.5 ล้านคนที่กำลังร่วมกันป้องกันการรุกราน เราป้องปรามและปกป้องจากศัตรูทุกราย ทุกเวลา และทุกสถานที่ ในโลกที่ระบอบเผด็จการพยายามสร้างภาพลักษณ์ของความแข็งแกร่ง และอำนาจอันโหดร้ายพยายามลิดรอนสิทธิอธิปไตยของประชาชนและประเทศต่าง ๆ เราจึงต้องการเกราะคุ้มครองนี้มากกว่าที่เคย เราต้องแสดงให้โลกเห็นว่าประชาธิปไตยคุ้มค่าที่จะต่อสู้เพื่อรักษา”

นิตยสารเซนทรีตีพิมพ์โดยกองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button