ทรัพยากรส่วนรวมของโลกโอเชียเนีย

กลุ่มบลูแปซิฟิกรับหน้าที่ดูแลการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในภูมิภาค

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ในภูมิภาคมหาสมุทรแปซิฟิกที่กว้างใหญ่และมีความเสี่ยงสูงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทีมตอบสนองแบบพหุภาคีทีมใหม่กำลังปรับปรุงการช่วยเหลือฟื้นฟูให้มีประสิทธิภาพสำหรับประเทศและดินแดนที่เป็นเกาะต่าง ๆ ขณะเดียวกัน บทบาทสำคัญของออสเตรเลียในฐานะผู้นำยังช่วยเสริมสถานะของออสเตรเลียในฐานะพันธมิตรด้านความมั่นคงหลักของประเทศในกลุ่มบลูแปซิฟิก

กลุ่มตอบสนองแปซิฟิกช่วยให้รัฐในภูมิภาคที่ห่างไกลสามารถช่วยเหลือกันและกันในด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ โดยการฟื้นฟูที่นำโดยหน่วยงานประสานงานเดียวในภูมิภาคยังสามารถช่วยลดความซ้ำซ้อนของการทำงานและความสับสนที่อาจเกิดขึ้นหลังเกิดภัยพิบัติ

“แน่นอนว่ามีความต้องการที่จะให้การช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” นายริชาร์ด มาร์ลส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย กล่าว แต่ “บางครั้งประเทศเหล่านั้นก็อาจรู้สึกว่าความช่วยเหลือที่มากเกินไปถาโถมเข้าใส่จนรับไม่ไหว”

ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มบลูแปซิฟิก มีบทบาทสำคัญในการจัดหาเส้นทางการขนส่ง ทรัพยากรทางการเงิน และบุคลากรทางทหาร โดยเมืองบริสเบนในออสเตรเลียเป็นฐานสำหรับหน่วยที่ปรึกษาของกลุ่มตอบสนองแปซิฟิก ซึ่งทำหน้าที่ประเมินความต้องการและประสานงานการฟื้นฟูร่วมกับกองทัพต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ตอบสนองด่านหน้าในพื้นที่

บทบาทของออสเตรเลียในฐานะผู้นำกลุ่มนี้ช่วยเสริมสร้างสถานะของออสเตรเลียในฐานะผู้ให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงหลักในภูมิภาค นายเบลค จอห์นสัน นักวิเคราะห์จากสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของออสเตรเลีย และผู้ร่วมเขียนรายงานของสถาบันแห่งนี้เกี่ยวกับกลุ่มตอบสนองแปซิฟิก กล่าวกับนิกเคอิเอเชีย

รายงานของสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของออสเตรเลียประกอบไปด้วยข้อเสนอแนะสำหรับผู้กำหนดนโยบาย เช่น การขยายบทบาทของกลุ่มตอบสนองแปซิฟิกและการให้หน่วยงานรัฐบาลหลายหน่วยเข้ามามีส่วนร่วม นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังเพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับข้อกังวลเรื่องการเข้ามาแสดงตนในภูมิภาคของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีเพิ่มขึ้น

กลุ่มตอบสนองแปซิฟิกจัดตั้งขึ้นระหว่างการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแปซิฟิกใต้ที่เมืองออกแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 การประชุมดังกล่าวมีผู้นำจากออสเตรเลีย ชิลี ฟิจิ ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี และตองงาเข้าร่วม รวมถึงผู้สังเกตการณ์จากญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา นายบารอน วากา ประธานาธิบดีนาอูรู และเลขาธิการการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิกซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือของ 18 ประเทศและดินแดนในภูมิภาค ก็ได้เข้าร่วมการประชุมนี้ด้วย

การจัดตั้งกลุ่มตอบสนองแปซิฟิกเกิดขึ้นในช่วงฤดูมรสุมที่มีความเสี่ยงสูงในภูมิภาค ซึ่งเต็มไปด้วยพายุไซโคลน น้ำท่วม ภูเขาไฟปะทุ และแผ่นดินไหว ประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิกยังระบุว่าความกังวลด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดของพวกเขาคือการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “การเคลื่อนไหวทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่มีความหมายใด ๆ กับประชาชนในแปซิฟิกที่มีพายุไซโคลนกำลังพัดมาใกล้ขอบฟ้า… หรือประชาชนเผชิญกับน้ำทะเลที่ซัดถึงหน้าประตูบ้านเนื่องจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น” นายวากากล่าวเมื่อต้น พ.ศ. 2567

ผู้สนับสนุนกลุ่มตอบสนองแปซิฟิกระบุว่า แผนงานที่มีการประสานงานร่วมกันในระดับพหุภาคีมีทั้งประโยชน์และความคุ้มค่า “เพื่อให้แน่ใจว่าเราทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องในครั้งเดียว โดยที่ทุกคนรู้จักหน้าที่ของตนและไม่ทำงานซ้ำซ้อนกัน” นางจูดิธ คอลลินส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนิวซีแลนด์ กล่าวกับเรดิโอนิวซีแลนด์

“เราทุกคนทราบกันดีว่าการที่หลายประเทศช่วยเหลือประเทศเดียว ย่อมดีกว่าการที่ประเทศเดียวต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง” พ.ท. คริสเตียน ตูโป จากกองทัพตองงา กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button