โครงการริเริ่มด้านความมั่นคงทางทะเลของญี่ปุ่นช่วยสนับสนุนหุ้นส่วนในหมู่เกาะแปซิฟิก
ฟีลิกซ์ คิม
ญี่ปุ่นเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลกับประเทศต่าง ๆ ในหมู่เกาะแปซิฟิกผ่านโครงการริเริ่มที่มุ่งเน้นในการเสริมสร้างขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเล ความพยายามเหล่านี้สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นในการสนับสนุนภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง พร้อมกับการแก้ไขปัญหาที่ท้าทายในภูมิภาค เช่น การทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อม และการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์
การมีส่วนร่วมของญี่ปุ่นกับประเทศต่าง ๆ เช่น ฟิจิ ไมโครนีเซีย และปาเลา ได้เปลี่ยนจากการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาเป็นการมุ่งเน้นที่การสร้างขีดความสามารถและความมั่นคงทางทะเล ดร. เจฟฟรีย์ ฮอร์นัง นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมของแรนด์คอร์ปอเรชัน กล่าว
“ญี่ปุ่นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและลดการพึ่งพาจีน ด้วยการช่วยเหลือประเทศในแปซิฟิกในการปกป้องน่านน้ำของประเทศเหล่านั้นและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่น การทำประมงที่ผิดกฎหมาย” ดร. ฮอร์นังกล่าวกับ ฟอรัม “สิ่งนี้จะช่วยสร้างเสถียรภาพในระบบระหว่างประเทศและสอดคล้องกับผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ที่กว้างขึ้นของญี่ปุ่น”
โครงการริเริ่มหลักคือการจัดหาเรือลาดตระเวน เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นได้จัดหาให้กับฟิจิและปาเลา เรือเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากการฝึกอบรมที่จัดโดยกองกำลังรักษาชายฝั่งญี่ปุ่น ซึ่งช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายในท้องถิ่น ประเทศในหมู่เกาะหลายประเทศมีโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรอื่น ๆ ที่จำกัด ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายสำหรับประเทศเหล่านั้นที่จะติดตามและรักษาความปลอดภัยในเขตทะเลที่กว้างขวาง
มูลนิธิเพื่อสันติภาพซาซาคาว่ายังมีบทบาทสำคัญในการสร้างขีดความสามารถ โดยจัดการประชุมร่วมกับญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเพื่ออำนวยความสะดวกในการฝึกอบรมและการจัดหาทรัพยากรให้กับหุ้นส่วนในแปซิฟิก
ความร่วมมือของญี่ปุ่นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งมุ่งมั่นที่จะรักษาทางเดินทะเลที่เปิดกว้างและปลอดภัยในภูมิภาค โครงการริเริ่มต่าง ๆ ของรัฐบาลญี่ปุ่นช่วยสนับสนุนระเบียบทางทะเลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา และช่วยสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคแปซิฟิกจากการบีบบังคับจากภายนอก
การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของญี่ปุ่น เนื่องจากหมู่เกาะในแปซิฟิกได้กลายเป็นจุดสนใจในผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงการพัฒนาโครงการท่าเรือ การมีบทบาทและการลงทุนอย่างต่อเนื่องของญี่ปุ่นจึงทำหน้าที่เป็นการถ่วงดุลอำนาจที่สำคัญ ในขณะที่การเฝ้าระวังผ่านดาวเทียมเพื่อการติดตามเรือที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงที่ผิดกฎหมายถือเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเลที่มีประสิทธิภาพในภูมิภาค
การร่วมมือกับออสเตรเลีย สหรัฐฯ และหุ้นส่วนอื่น ๆ ผ่านโครงการริเริ่มต่าง ๆ เช่น เครือข่ายจุดเชื่อมสีฟ้า และความร่วมมือในอินโดแปซิฟิกเพื่อสร้างขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเล ช่วยขยายโครงการริเริ่มของญี่ปุ่น ดร. ฮอร์นังกล่าว ความพยายามแบบพหุภาคีนี้ช่วยแก้ไขช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลและการเฝ้าระวัง โดยการรวมทรัพยากรและการแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร
เครือข่ายจุดเชื่อมสีฟ้าเป็นโครงการสมัครใจที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อกำหนดมาตรฐานโครงการโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา ความร่วมมือในอินโดแปซิฟิกเพื่อสร้างขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเล เป็นโครงการริเริ่มของกลุ่มความร่วมมือ ควอด ซึ่งประกอบด้วยออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เปิดตัวใน พ.ศ. 2565 โดยมีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมและคลื่นความถี่วิทยุเพื่อเสริมสร้างขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเล และเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ เช่น การทำประมงที่ผิดกฎหมาย รวมถึงภัยธรรมชาติและภัยพิบัติด้านมนุษยธรรม
โครงการริเริ่มเพื่อสร้างขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเลของญี่ปุ่นยังเชื่อมโยงกับลำดับความสำคัญที่กว้างขึ้น เช่น ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่สำคัญสำหรับประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก ในการประชุมผู้นําหมู่เกาะแปซิฟิกที่กรุงโตเกียวในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในสมัยนั้น ได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเสนอเรือวิจัยการประมงให้แก่ประเทศต่าง ๆ รวมถึงไมโครนีเซียและปาปัวนิวกินี ตามรายงานของสภาแอตแลนติก ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในสหรัฐฯ
เรือเหล่านี้จะช่วยหน่วยงานท้องถิ่นในการประเมินทรัพยากรทางทะเลและแก้ไขปัญหาทางนิเวศวิทยา ตามรายงานของหนังสือพิมพ์โยมิอุริชิมบุงของญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเร่งเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาค ผ่านความคิดริเริ่มต่าง ๆ เช่น การจัดหาเรือลาดตระเวน ระบบเฝ้าระวังที่ทันสมัย และความร่วมมือระดับพหุภาคี “ความร่วมมือนี้ช่วยให้ญี่ปุ่นลดการพึ่งพาจีน พร้อมกับส่งเสริมระเบียบทางทะเลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาที่มีเสถียรภาพ ซึ่งสำคัญต่อยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกที่กว้างขวางขึ้น” ดร. ฮอร์นังกล่าว
ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้