อินโดนีเซียเพิ่มความเข้มงวดในการลาดตระเวนทางทะเลท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในทะเลนาตูนาเหนือ
กัสดี ดา คอสตา
อินโดนีเซียกำลังเพิ่มความเข้มงวดในการลาดตระเวนและเฝ้าระวังทางทะเล เพื่อตอบโต้การรุกล้ำซ้ำ ๆ ของเรือกองกำลังรักษาชายฝั่งของสาธารณรัฐประชาชนจีนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของตน การดำเนินการนี้เกิดขึ้นหลังจากการเผชิญหน้ากันหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงเหตุการณ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 ที่เรือลาดตระเวนอินโดนีเซียสกัดและขับไล่เรือจีนที่เข้ามาแทรกแซงการสำรวจแผ่นดินไหว การดำเนินการนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของอินโดนีเซียในการปกป้องอธิปไตยและรักษาเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ที่มีข้อพิพาทเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนที่รัฐบาลอินโดนีเซียเรียกว่าทะเลนาตูนาเหนือ
เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่ง หรือบากัมลา และกองทัพเรืออินโดนีเซีย รวมถึงเรือ ปูเลา ดานา และ เคอาร์ไอ สุเตดี เสโนปูตรา ได้ขับไล่เรือกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนออกไป หลังจากที่เรือลำดังกล่าวเข้ามาในเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินโดนีเซียและรบกวนเรือ เอ็มวี จีโอ คอรัล ซึ่งเป็นเรือสำรวจแผ่นดินไหวของบริษัทอินโดนีเซีย อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล พ.ศ. 2525 ให้สิทธิแก่รัฐชายฝั่งในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใด ๆ ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งครอบคลุมระยะ 200 ไมล์ทะเลของประเทศตนเอง
เรือของจีนยังได้รุกล้ำเข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศอื่น ๆ ที่เป็นผู้อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ เช่น มาเลเซียและฟิลิปปินส์
“การรุกล้ำของเรือกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการกระทำเชิงยั่วยุในภูมิภาค” นายโมฮาหมัด อับดี ผู้ประสานงานภายในประเทศของหน่วยงานเฝ้าระวังการทำประมงแบบทำลายล้างของอินโดนีเซีย ซึ่งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน กล่าวกับ ฟอรัม “ทะเลนาตูนาเหนือเป็นเขตที่สำคัญสำหรับอินโดนีเซีย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ เหตุการณ์เช่นนี้ย้ำเตือนถึงความจำเป็นที่อินโดนีเซียต้องตื่นตัวและเพิ่มมาตรการด้านความมั่นคงทางทะเล”
อินโดนีเซียได้เพิ่มการลาดตระเวนร่วมระหว่างกองกำลังรักษาชายฝั่งและกองทัพเรือ ปรับปรุงเทคโนโลยีการเฝ้าระวัง และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน มีการส่งเรือ เครื่องบิน และโดรนออกปฏิบัติการอย่างสม่ำเสมอเพื่อเฝ้าระวังและตอบโต้ภัยคุกคาม นายอับดีกล่าว โดยช่วยรับรองถึงการตอบสนองอย่างรวดเร็วอย่างเป็นระบบ และมีการแสดงกำลังในเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลจีนอ้างสิทธิ์ในพื้นที่เกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ที่อุดมไปด้วยทรัพยากร แม้ว่าใน พ.ศ. 2559 ศาลระหว่างประเทศได้ตัดสินไปแล้วว่าการอ้างสิทธิ์ในดินแดนนั้นไม่มีพื้นฐานทางกฎหมาย
อินโดนีเซีย “ปฏิเสธการอ้างสิทธิ์ของจีนอย่างต่อเนื่อง” นายเอ็ดดี้ ปราตาโม ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศและอดีตนักการทูตอินโดนีเซีย กล่าวกับ ฟอรัม “จุดยืนนี้สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล และยืนยันว่าทะเลนาตูนาเหนือเป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม การรักษาจุดยืนนี้จำเป็นต้องมีทั้งความหนักแน่นทางกฎหมายและความพร้อมทางการปฏิบัติการ”
ในฐานะประเทศหมู่เกาะที่มีเกาะมากกว่า 13,000 เกาะ อินโดนีเซียกำลังเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรทางทะเล เพื่อให้ครอบคลุมขอบเขตทางทะเลอันกว้างใหญ่ของตน “นี่เป็นด้านที่จำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก” นายอับดีกล่าว
ขณะที่เสริมสร้างการป้องกันทางทะเล อินโดนีเซียยังคงบริหารจัดการความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ซึ่งเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ การเจรจาแบบทวิภาคีของทั้งสองประเทศครั้งล่าสุด รวมถึงแถลงการณ์ร่วมเรื่องความร่วมมือทางทะเลในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสันติภาพพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ของชาติ
กลยุทธ์อันรอบคอบของอินโดนีเซียยังรวมถึงการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือกับสมาชิกอื่น ๆ ในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน และส่งเสริมความสามัคคีในภูมิภาค
“การลาดตระเวนร่วมและการแบ่งปันข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นสิ่งจำเป็น” นายทึคุ เรซาสยา อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยปัดจาดจารันของอินโดนีเซีย กล่าวกับ ฟอรัม “หากอินโดนีเซียเป็นผู้นำในการรักษาความมั่นคงให้เขตเศรษฐกิจพิเศษของตน ก็จะเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนดำเนินรอยตาม”
นักวิเคราะห์กล่าวว่า บทบาทเชิงรุกของอินโดนีเซียในทะเลนาตูนาเหนือมีส่วนสนับสนุนต่อโครงสร้างความมั่นคงของอินโดแปซิฟิกโดยรวม รัฐบาลอินโดนีเซียส่งเสริมระเบียบทางทะเลตามกฎหมายซึ่งมีความสำคัญต่อเสถียรภาพในภูมิภาคด้วยการยืนยันอำนาจอธิปไตยของตน
“การกระทำของอินโดนีเซียเป็นสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ” น.อ. มาร์เซลลัส ฮาเคง จายาวิบาวา ผู้เชี่ยวชาญทางทะเล กล่าวกับ ฟอรัม “นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าประเทศต่าง ๆ มีทั้งสิทธิและความรับผิดชอบในการปกป้องเขตเศรษฐกิจพิเศษของตนจากการรุกล้ำโดยไร้เหตุผลอันสมควร ซึ่งเป็นหลักการที่สอดคล้องกับทั่วทั้งภูมิภาคอินโดแปซิฟิก”
กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย