ทรัพยากรส่วนรวมของโลกอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

สหรัฐฯ พร้อมพันธมิตรและหุ้นส่วน ยกระดับปฏิบัติการความร่วมมือเพื่อรับรองความปลอดภัยของเส้นทางเดินเรือ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

สหรัฐอเมริการ่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วน เดินหน้าขยายปฏิบัติการทุกขอบเขตแบบผสมผสานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เส้นทางน้ำที่สำคัญทั่วโลกยังคงเสรีและเปิดกว้าง

กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองทัพบกของพันธมิตรและหุ้นส่วน ร่วมมือกันในปฏิบัติการที่ดำเนินมาเกือบสองปี เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับเส้นทางคมนาคมทางทะเลทั่วภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงช่องแคบยุทธศาตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ตั้งแต่ช่องแคบมะละกาและช่องแคบเฮอร์มุซ ไปจนถึงจะงอยแอฟริกาและคลองปานามา

เครื่องบินขับไล่ เอฟ-35บี ไลท์นิ่ง 2 ของกองทัพสหรัฐฯ พร้อมเครื่องบินทิ้งระเบิด เคซี-130เจ ซูเปอร์ เฮอร์คิวลิส ดำเนินการฝึกซ้อมเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศใกล้ช่องแคบมิยะโกะใน พ.ศ. 2567 การเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศช่วยขยายขอบเขตการลาดตระเวนและการโจมตีของเครื่องบินขับไล่ เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการทุกขอบเขตแบบผสมผสานในพื้นที่ทางทะเลที่สำคัญ
วิดีโอจาก: ส.ท. คริสโตเฟอร์ ลาเป/นาวิกโยธินสหรัฐฯ

ในช่วงปลาย พ.ศ. 2567 กองกำลังที่มีอุดมการณ์เดียวกันได้ดำเนินกิจกรรมปฏิบัติการทุกขอบเขตแบบผสมผสานเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางทะเล ตั้งแต่การปิดกั้นทางทะเลและการอ้างสิทธิเหนืออาณาเขตอย่างก้าวร้าว ไปจนถึงอุบัติเหตุทางเรือ การกระทำอันเป็นโจรสลัด และการหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร ปฏิบัติการดังกล่าวรวมถึงกิจกรรมความร่วมมือทางทะเล ซึ่งมีการใช้อากาศยานและเรือจากญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสหรัฐฯ ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์ในเดือนธันวาคม

ปฏิบัติการปฏิบัติการทุกขอบเขตแบบผสมผสานที่เริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เป็นการเสริมการฝึกซ้อมที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน การเดินเรือตามกิจวัตร และกิจกรรมอื่น ๆ ที่สนับสนุนพันธมิตรและหุ้นส่วนในการปกป้องการขนส่งสินค้าหรือการขนส่งทางทหารผ่านเส้นทางน้ำและช่องแคบทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เส้นทางสัญจรทางทะเลในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ตั้งแต่มหาสมุทรอินเดียจนถึงทะเลญี่ปุ่น รองรับการค้าทางทะเลมากกว่าร้อยละ 80 ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด

กองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิกได้ประสานงานปฏิบัติการทุกขอบเขตแบบผสมผสานระดับภูมิภาคกับกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแอฟริกา ศูนย์บัญชาการกลางสหรัฐฯ กองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นยุโรป และกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นตอนใต้ ตลอดจนออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส อินเดีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนอื่น ๆ ทุกภาคส่วนข้างต้นได้ร่วมมือกันดำเนินปฏิบัติการทุกขอบเขตทั้งภายในและใกล้ช่องแคบยุทธศาสตร์ทั่วโลก เพื่อขัดขวางผู้กระทำผิดที่อาจทำลายบรรทัดฐานและกฎหมายระหว่างประเทศที่มีอยู่

เรือรบที่เข้าร่วมกับปฏิบัติการแอสไพเดสของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นภารกิจในการปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือ ได้ให้การคุ้มครองเรือกู้ภัยในทะเลแดงเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2567
ภาพจาก: สหภาพยุโรปผ่านทางดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนได้พัฒนาจากกิจกรรมความร่วมมือระดับทวิภาคีและไตรภาคีไปสู่ปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือระดับพหุภาคีในทะเลจีนใต้ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 เรือจากออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ได้แล่นผ่านน่านน้ำสากล ในเดือนสิงหาคม กองทัพอากาศและกองทัพเรือของออสเตรเลีย แคนาดา ฟิลิปปินส์ และสหรัฐฯ ได้ดำเนินกิจกรรมความร่วมมือทางทะเล

ก่อนปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือในเดือนสิงหาคม ทั้งสี่ประเทศที่เข้าร่วมได้ยืนยันคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศเมื่อ พ.ศ. 2559 ที่เพิกถอนการอ้างสิทธิ์ทางอธิปไตยของสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ ทั้งสี่ประเทศเรียกคำตัดสินดังกล่าวว่าเป็น “คำตัดสินสุดท้ายที่มีผลผูกพันทางกฎหมายสำหรับฝ่ายที่เกี่ยวข้องในข้อพิพาท”

สหรัฐฯ มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการสนับสนุนหลักการของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล พ.ศ. 2525 และการปกป้องเส้นทางคมนาคมทางทะเลเพื่อให้มั่นใจว่าเส้นทางน้ำที่สำคัญนี้จะยังคงเปิดกว้างสำหรับการค้าและความมั่นคง กองกำลังสหรัฐฯ ปฏิบัติการในทะเลจีนใต้ทุกวัน เหมือนดังเช่นที่เคยทำมานานกว่าศตวรรษ โดยปฏิบัติการร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนที่มุ่งมั่นทำเพื่ออินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างซึ่งสนับสนุนความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรือง

นักวิเคราะห์กล่าวว่ากิจกรรมความร่วมมือ เช่น ปฏิบัติการทุกขอบเขตแบบผสมผสานและปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือ จะเพิ่มขึ้นในช่วงที่ความตึงเครียดในภูมิภาคทวีความรุนแรงขึ้น

เรือฟริเกตเอชเอ็มซีเอสมอนทรีออลของกองทัพเรือแคนาดา เรือบีอาร์พี เรมอน อัลคาเรซของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ เรือยูเอสเอส เลก อีรีของกองทัพเรือสหรัฐฯ และเรือบีอาร์พี โฮเซ รีซัลของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ ได้ดำเนินกิจกรรมความร่วมมือทางทะเลในทะเลจีนใต้เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567
ภาพจาก: กองทัพฟิลิปปินส์ผ่านดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

“จากที่ฟิลิปปินส์ได้ลงนามข้อตกลง…กับฝ่ายต่าง ๆ ในภูมิภาค รวมถึงข้อตกลงที่จะมีขึ้นกับแคนาดา กิจกรรมความร่วมมือทางทะเลเหล่านี้จึงน่าจะดำเนินต่อไป แม้กำหนดการจะยังไม่ชัดเจนก็ตาม” นายคอลลิน โกห์ ผู้วิจัยอาวุโสจากสถาบันการศึกษาด้านกลาโหมและยุทธศาสตร์ที่วิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส. ราชารัตนัมของสิงคโปร์ กล่าวกับเว็บไซต์เบรกกิง ดีเฟนซ์ ในเดือนสิงหาคม “ทว่าความมุ่งมั่นโดยรวมของมหาอำนาจเหล่านี้ในภูมิภาคก็ยังคงมีอยู่”

ความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยเส้นทางคมนาคมทางทะเลได้รับการเน้นย้ำจากกิจกรรมที่เป็นอันตรายทั่วโลก เช่น การโจมตีเรือในอ่าวเอเดนโดยกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน

“นี่เป็นปัญหาระหว่างประเทศที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายประเทศในการแก้ไข” นายแกรนท์ แชปป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักรในขณะนั้น กล่าว หลังจากการโจมตีเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนได้เสริมสร้างความมุ่งมั่นในการตอบโต้ภัยคุกคามเหล่านี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button