รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกลุ่มจี 7 ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ จี 7 แสดงจุดยืนว่าตนต้องการมีความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์และมั่นคงกับสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมทั้งยืนยันว่ารัฐบาลจีนไม่มีหลักการทางกฎหมายสำหรับการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่กว้างขวางในทะเลจีนใต้ บรรดารัฐมนตรีกล่าวว่าตน “คัดค้านอย่างหนักแน่นต่อการที่จีนขัดขวางเสรีภาพในการเดินเรือ การจัดกำลังทหารในพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาท และการดำเนินการในลักษณะบีบบังคับและข่มขู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า”
แถลงการณ์ร่วมที่เผยแพร่ในช่วงกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 เกิดขึ้นหลังการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจี 7 ครั้งแรก ซึ่งประกอบด้วยแคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา โดยมีตัวแทนจากสหภาพยุโรป องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต และยูเครนเข้าร่วมด้วย
“การรุกรานอย่างโหดร้ายของรัสเซียในยูเครน” ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก การสู้รบในตะวันออกกลาง และความไม่มีเสถียรภาพในแอฟริกา “สะท้อนให้เห็นถึงกรอบความมั่นคงที่เสื่อมโทรมลง” นายกุยโด โครเซตโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิตาลี กล่าวในถ้อยแถลงเปิดการประชุม นายโครเซตโตกล่าวว่า ฝ่ายหนึ่งคือประเทศและองค์กรที่ยึดมั่นในระเบียบโลกที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งคือ “ผู้ที่ละเมิดประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของตนเอง รวมถึงเจตนาใช้กำลังทหาร”
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในช่วงที่เกาหลีเหนือส่งกำลังทหารไปช่วยเหลือรัสเซียในสงครามที่รุกรานยูเครนโดยไม่มีเหตุอันสมควร และจีนใช้ยุทธวิธีที่ผิดกฎหมาย บีบบังคับ ก้าวร้าว และหลอกลวง เช่น การซ้อมรบทางทหารที่จำลองการปิดล้อมรอบเกาะไต้หวัน ซึ่งจีนอ้างว่าไต้หวันเป็นดินแดนของตนและขู่ว่าจะผนวกรวมโดยใช้กำลัง บรรดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า “การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันเป็นสิ่งที่จะขาดไปไม่ได้สำหรับความมั่นคงและความรุ่งเรืองของนานาชาติ” พร้อมกันนี้ยังแสดงการคัดค้านอย่างหนักแน่นต่อ “การใช้เรือกองกำลังรักษาชายฝั่งและเรือกองกำลังพลเรือนติดอาวุธทางทะเลของจีนในทะเลจีนใต้ในลักษณะที่เป็นอันตราย”
อีกทั้งยังประณามการสนับสนุนของจีนต่อสงครามที่ผิดกฎหมายของรัสเซียในยูเครน บริษัทจีนและรัสเซียร่วมมือกันพัฒนาอาวุธไร้คนขับระยะไกลเพื่อใช้ในยูเครน ตามรายงานของบลูมเบิร์กนิวส์ สหรัฐฯ ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ “การออกแบบ ผลิต และส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์” จีนยังจัดหาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ใช้ได้ทั้งในทางพลเรือนและทางการทหารให้กับรัสเซียเพื่อนำไปใช้งานในยูเครน และรัฐบาลจีนยังช่วยรัฐบาลรัสเซียหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการควบคุมการส่งออกระหว่างประเทศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเรียกร้องให้จีน “ยุติการส่งมอบวัสดุที่ใช้ได้ทั้งในทางพลเรือนและทางการทหาร รวมถึงชิ้นส่วนอาวุธและอุปกรณ์ที่เป็นส่วนสำคัญสำหรับภาคกลาโหมของรัสเซีย ซึ่งทำให้รัสเซียสามารถทำสงครามที่ผิดกฎหมายในยูเครนต่อไปได้” อักทั้งแสดงความกังวล “เกี่ยวกับการกระทำที่บั่นทอนเสถียรภาพอันเกิดจากความร่วมมือทางทหารที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและรัสเซีย”
ในประเด็นด้านเกาหลีเหนือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ประณามโครงการอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่ผิดกฎหมายของเกาหลีเหนือ และเรียกร้องให้มีการรื้อถอนอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงของเกาหลีเหนืออย่างสมบูรณ์ ตรวจสอบได้ และไม่สามารถย้อนกลับคืนได้ อีกทั้งยังประณามความร่วมมือทางทหารที่เพิ่มขึ้นระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซีย รวมถึงการส่งมอบขีปนาวุธให้กับรัสเซีย ซึ่งถือเป็นการละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
แถลงการณ์ร่วมไม่ได้กล่าวถึงการที่เกาหลีเหนือส่งทหารราว 11,000 นายไปยังรัสเซีย หลังจากการประชุม นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่า นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กำลัง “ขอเศษทาน” จากรัฐบาลเกาหลีเหนือในลักษณะของการร้องขอกำลังพล
“แผนของรัฐบาลรัสเซียที่พึ่งพาเกาหลีเหนือเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยตอกย้ำให้เห็นว่าภารกิจของนายปูตินในสงครามนี้ล้มเหลวเพียงใด และเขากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากมากแค่ไหน” นายออสตินกล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า หลายประเทศในอินโดแปซิฟิกและภูมิภาคอื่น ๆ มีผลประโยชน์โดยตรงในการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค รวมถึงผ่านความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคง พร้อมทั้งยืนยันว่า “ความมุ่งมั่นต่ออินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างของตนตั้งอยู่บนหลักนิติธรรมและการยึดมั่นในหลักการของการแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ โดยไม่ใช้การคุกคามหรือการใช้กำลัง”