ญี่ปุ่นเพิ่มการใช้งานโดรนเพื่อส่งเสริมข่าวกรอง การเฝ้าระวัง และการลาดตระเวนทางทะเล
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
กระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นจะเสริมสร้างความสามารถด้านขอบเขตในการเฝ้าระวังทางทะเลด้วยเครื่องบินลาดตระเวนไร้คนขับที่ส่งไปยังพื้นที่น่านน้ำรอบประเทศ การดำเนินการนี้เกิดขึ้นเมื่อกองทัพเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีนปรากฏตัวมากขึ้นในภูมิภาคที่กว้างใหญ่ รวมถึงใกล้เกาะเซ็งกะกุ ซึ่งเป็นหมู่เกาะที่ไม่มีประชากรและตั้งอยู่ในทะเลจีนตะวันออกที่ญี่ปุ่นดูแลแต่สาธารณรัฐประชาชนจีนอ้างว่าเป็นของตน
ญี่ปุ่นใช้โดรน ซีการ์เดียน เอ็มคิว-9บี ของสหรัฐอเมริกา 3 ลำและมีแผนจะซื้อเพิ่มอีก 23 ลำในช่วง 10 ปีข้างหน้า ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดยโดรนเหล่านี้จะปฏิบัติภารกิจในด้านข่าวกรอง การเฝ้าระวัง และการลาดตระเวน
อากาศยานเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องบินลาดตระเวนที่มีคนขับในรูปแบบเดียวกัน โดรน ซีการ์เดียน ซึ่งผลิตโดยบริษัท เจเนรัล อะตอมิกส์ แอโรนอติคัล ซิสเต็มส์ ใช้พลังงานน้ำมันน้อยกว่าถึงร้อยละ 90 และใช้บุคลากรในการปฏิบัติภารกิจเพียงครึ่งหนึ่งและสามารถบินได้นานกว่า
โดรนดังกล่าวมีความยาวเกือบ 12 เมตร ปีกกว้าง 24 เมตร และสามารถบินต่อเนื่องในการทำภารกิจด้านข่าวกรอง การเฝ้าระวัง และการลาดตระเวนได้ประมาณ 24 ชั่วโมง โดยมีพิสัยไกลถึง 4,800 กิโลเมตร ซึ่งมากกว่าระยะทางระหว่างญี่ปุ่นกับฟิลิปปินส์ ตามรายงานของเว็บไซต์เจแปนฟอร์เวิร์ด กล้องและเรดาร์ของโดรนสามารถเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการสัญจรทางทะเลได้ทั้งกลางวันและกลางคืน
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจซื้อโดรนเหล่านี้หลังจากที่กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่นได้ทำการทดสอบการบินจากฐานทัพอากาศฮาจิโนเฮะในจังหวัดอาโอโมริ ตามรายงานของเอ็นเอชเค เวิลด์ ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะของญี่ปุ่น
อากาศยานแต่ละลำมีมูลค่าประมาณ 2.65 พันล้านบาท (ประมาณ 77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยคาดว่าจะมีการส่งมอบอากาศยานลำแรกใน พ.ศ. 2571 ตามรายงานของเอ็นเอชเค เวิลด์ งบประมาณที่เกี่ยวข้องประมาณ 5.64 พันล้านบาท (ประมาณ 164 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จะบรรจุไว้ในคำขอของกระทรวงกลาโหมสำหรับงบประมาณปีการเงิน พ.ศ. 2568 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะเจแปนไทมส์
กองกำลังรักษาชายฝั่งญี่ปุ่นได้ใช้โดรนซีการ์เดียนทั้ง 3 ลำตั้งแต่ พ.ศ. 2565 โดยมีแผนการที่จะใช้อากาศยานที่ควบคุมจากระยะไกลรุ่นต่อไปในการลาดตระเวนเหนือทะเลญี่ปุ่นและมหาสมุทรแปซิฟิก อากาศยานเหล่านี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการค้นหาและช่วยเหลือ การรับมือภัยพิบัติ และการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล
รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังเพิ่มขีดความสามารถด้านความมั่นคงทางทะเลของตน รวมถึงการเพิ่มงบประมาณของกองกำลังรักษาชายฝั่งและจัดตั้งกลุ่มปฏิบัติการทางทะเลเพื่อการขนส่งกองกำลังอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางการรุกล้ำเขตแดนอย่างต่อเนื่องจากเรือของจีน การอ้างสิทธิ์ของรัฐบาลจีนในหมู่เกาะเซ็งกะกุไม่มีพื้นฐานตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่เป็นผลมาจากความทะเยอทะยานทางเศรษฐกิจของจีนในพื้นที่น่านน้ำที่อุดมไปด้วยทรัพยากร นักวิเคราะห์กล่าว
การซื้อโดรนเพิ่มเติมนี้สอดคล้องกับความร่วมมือของญี่ปุ่นกับออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ โดยพันธมิตรและหุ้นส่วนได้ประกาศในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 ว่ากำลัง “สำรวจโอกาสในการปรับปรุงความสามารถในการทำงานร่วมกันของระบบอัตโนมัติทางทะเลเป็นส่วนแรกของความร่วมมือ” ตามรายงานของเดอะเจแปนไทมส์
กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่นยังวางแผนที่จะใช้ยานพาหนะพื้นผิว ยานพาหนะสะเทินน้ำสะเทินบก และยานพาหนะใต้น้ำในอีกสิบปีข้างหน้า โดยผสานรวมทรัพยากรเหล่านี้เข้ากับปัญญาประดิษฐ์และยุทโธปกรณ์แบบใช้คนขับ ตามรายงานของสมุดปกขาวของกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น พ.ศ. 2567