การสูญเสียบุคลากรและการจำกัดนวัตกรรมคุกคามศักยภาพทางทหารของจีน
ทอม แอบกี
การอพยพบุคลากรระดับหัวกะทิที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเกิดจากนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เข้มงวด อาจเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อภาคกลาโหมของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะในด้านการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์และความมั่นคงทางไซเบอร์ นักวิเคราะห์กล่าวว่าการโยกย้ายของผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูง ประกอบกับข้อจำกัดด้านกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นภายใต้การนำของนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน อาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการทหารในระยะยาวของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและความพร้อมในการปฏิบัติการสำหรับภารกิจสำคัญ เช่น การรุกรานไต้หวันซึ่งปกครองตนเองที่อาจเกิดขึ้น
ลัทธิอำนาจนิยมที่ฝังรากลึกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังก่อให้เกิดความไม่พอใจที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพรุ่นใหม่ที่มีการศึกษา ซึ่งมีหลายคนที่มองหาโอกาสในต่างประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดภายในประเทศ เช่น นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งรวมถึงมาตรการกักกันโรคที่เข้มงวดในช่วงการระบาดใหญ่ และการบังคับให้เข้าร่วมการศึกษาทางการเมือง ประกอบกับตลาดงานที่หดตัว ทั้งหมดนี้ล้วนสร้างความผิดหวังในหมู่แรงงานจีน ตามรายงานของ ดร. ทิโมธี ฮีธ นักวิจัยอาวุโสด้านกลาโหมระหว่างประเทศจากแรนด์ คอร์ปอเรชัน
ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ระบุว่าจำนวนพลเมืองจีนที่อพยพออกไปใน พ.ศ. 2565 มีมากกว่าจำนวนผู้ย้ายเข้ามากว่า 310,000 คน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ ในช่วงเก้าเดือนแรกของ พ.ศ. 2566 ตัวเลขดังกล่าวได้เท่ากับยอดรวมใน พ.ศ. 2565 ผู้ที่อพยพออกไปส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่เลือกไม่กลับประเทศหลังจากศึกษาในต่างประเทศ หรือคนทำงานในด้านเทคโนโลยีที่มองหาโอกาสที่ดีกว่า ตามรายงานของเดอะนิวยอร์กไทมส์ในช่วงปลาย พ.ศ. 2566
สำหรับอุตสาหกรรมกลาโหมของจีน ซึ่งมักได้รับการสนับสนุนด้วยเงินทุนจำนวนมากจากภาครัฐ การสูญเสียบุคลากรถือเป็นความท้าทายที่มีลักษณะเฉพาะตัว การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเป็นการบั่นทอนการพัฒนานวัตกรรม อีกทั้งยังจำกัดความสามารถของรัฐในการพัฒนาและบำรุงรักษาเทคโนโลยีด้านกลาโหม
“เงินทุนไม่สามารถการันตีผลลัพธ์ได้เสมอไป ดังที่จีนได้เรียนรู้เมื่อมานานแล้ว” ดร. ฮีธกล่าว “การให้เงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐเป็นจำนวนมากแทบจะไม่เคยเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่กีดขวางนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ของจีน สิ่งสำคัญกว่าคือการสร้างเงื่อนไขที่เหมาะสมและดึงดูดบุคลากรที่เหมาะสมเพื่อให้นวัตกรรมพัฒนาต่อไปได้”
ข้อบังคับที่เข้มงวดของรัฐบาลจีนในภาคส่วนเทคโนโลยีขั้นสูงรวมถึงปัญญาประดิษฐ์ ล้วนมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและการควบคุมของรัฐ แต่ก็อาจทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีล่าช้าลง ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการควบคุมปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้าง เช่น แบบจำลองภาษาขนาดใหญ่ โดยอ้างว่าเป็นการ “ปกป้องความมั่นคงแห่งชาติและผลประโยชน์สาธารณะทางสังคม”
รัฐต้องการผลการปฏิบัติงานระดับสูงจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี แต่ในขณะเดียวกันก็จำกัดความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ ดร. ฮีธระบุว่า “กลายเป็นภาระที่หนักหนาและยากต่อการปฏิบัติจริง และคนหนุ่มสาวจำนวนมากอาจเลือกทำงานในต่างประเทศภายใต้เงื่อนไขที่ดูสมเหตุสมผลกว่า”
สภาพแวดล้อมทางการเมืองในจีนยังเป็นสิ่งที่ผลักดันให้บุคลากรออกนอกประเทศด้วย กฎหมายข่าวกรองแห่งชาติของจีน ซึ่งกำหนดให้ประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ต้องให้ความช่วยเหลือในกิจกรรมข่าวกรอง ได้ก่อให้เกิดความกังวลในหมู่แรงงานที่มีทักษะและภาคธุรกิจ แรงกดดันเหล่านี้สร้างบรรยากาศแห่งความไม่ไว้วางใจ ซึ่งผลักดันให้ผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพมองหาทางเลือกอื่น ๆ นอกประเทศจีน ตามข้อมูลจากรายงานต่าง ๆ
การสูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถส่งผลคุกคามต่อการปรับปรุงความทันสมัยทางการทหารของจีน กองทัพปลดปล่อยประชาชนมีเป้าหมายที่จะ “เพิ่มความชาญฉลาด” ให้กับกำลังพลด้วยเครื่องมือที่พัฒนาด้วยปัญญาประดิษฐ์ ดร. ฮีธกล่าว อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะและการสูญเสียผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิด “ความล่าช้าและอุปสรรค” ซึ่งส่งผลต่อความสามารถของรัฐบาลจีนในการพัฒนาและใช้งานระบบขั้นสูงที่มีความสำคัญต่อสงครามสมัยใหม่
“สิ่งนี้อาจขัดขวางความสามารถของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในการสร้างระบบกำหนดเป้าหมายขั้นสูงและระบบไร้คนขับอัตโนมัติ ซึ่งอาจมีประโยชน์ในสถานการณ์เกี่ยวกับไต้หวัน” ดร. ฮีธกล่าว
ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์