ทรัพยากรส่วนรวมของโลกโอเชียเนีย

การทดสอบสกัดกั้นขีปนาวุธของสหรัฐฯ สนับสนุนแนวคิดอินโดแปซิฟิกเสรีและเปิดกว้าง

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม รายงานข่าวภายนอก

เป็นครั้งแรกที่สำนักงานป้องกันขีปนาวุธสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการสกัดกั้นเป้าหมายที่เป็นขีปนาวุธพิสัยกลางที่ยิงจากอากาศ ระหว่างการทดสอบใกล้เกาะกวม ซึ่งนี่นับเป็นหมุดหมายสำคัญในขีดความสามารถด้านการป้องกันของดินแดนสหรัฐฯ

เกาะกวม ซึ่งตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับยุทโธปกรณ์ทางทหารของสหรัฐฯ เกาะกวมอยู่ห่างจากสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ถึง 3,000 กิโลเมตร และเป็นพื้นที่ที่สำคัญต่อการรักษาไว้ซึ่งสถานะและบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ รวมถึงการป้องปรามศัตรูที่อาจเกิดขึ้น การตอบสนองต่อวิกฤต และการสนับสนุนแนวคิดอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

การทดสอบเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2567 นี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในการปกป้องมาตุภูมิ และเสริมการป้องกันภัยจากขีปนาวุธที่พัฒนาขึ้นให้กับกวม

ระบบเอจิสกวมได้ทำการผสานรวมกับเรดาร์เอเอ็น/ทีพีวาย-6 รุ่นใหม่และแท่นยิงแนวดิ่ง ซึ่งในการทดสอบครั้งนี้ ระบบเอจิสกวมได้ทำการยิงขีปนาวุธ สแตนดาร์ดมิสไซล์-3 บล็อก ไอไอเอ จากฐานทัพอากาศแอนเดอร์เซน ขีปนาวุธสามารถสกัดกั้นเป้าหมายได้ในระยะกว่า 370 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงเหนือของกวม เป้าหมายถูกปล่อยจากเครื่องบินลำเลียง ซี-17 โกลบมาสเตอร์ 3 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ

“นี่คือความสำเร็จจากความร่วมมือของหลายฝ่าย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิธีการที่องค์กรต่าง ๆ ภายในกระทรวงกลาโหมร่วมมือกันเพื่อปกป้องกวมซึ่งเป็นมาตุภูมิของเรา ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต” พล.อ.ท. ฮีธ คอลลินส์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันขีปนาวุธสหรัฐฯ กล่าวในการแถลงข่าว “เราจะร่วมกันใช้ข้อมูลนี้เพื่อต่อยอดและยืนยันความถูกต้องของสถาปัตยกรรมการติดตามร่วม รวมถึงความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศและขีปนาวุธแบบบูรณาการสำหรับกวม”

การทดสอบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกขีดความสามารถสลิงสโตนที่จัดขึ้นเป็นเวลาหลายสัปดาห์ โดยกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก เพื่อยกระดับขีดความสามารถของกำลังพลที่และฝึกซ้อมปฏิบัติการพิทักษ์มาตุภูมิ การฝึกซ้อมนี้จัดร่วมกับกองกำลังเฉพาะกิจร่วมไมโครนีเซีย และมีเจ้าหน้าที่และยุทโธปกรณ์จากกองทัพอากาศ กองทัพบก และกองทัพเรือสหรัฐฯ รวมถึงกองกำลังพันธมิตรเข้าร่วม เพื่อใช้การทดสอบสกัดกั้นขีปนาวุธสำหรับการฝึกซ้อมหลายขอบเขต

ในระหว่างการฝึกสลิงสโตนในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 ขีปนาวุธสแตนดาร์ดมิสไซล์-3 บล็อก ไอไอเอ ที่ยิงจากฐานทัพอากาศแอนเดอร์เซนสามารถสกัดกั้นเป้าหมายขีปนาวุธที่ยิงจากอากาศได้ในระยะกว่า 370 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะกวม
ภาพจาก: สำนักงานป้องกันขีปนาวุธสหรัฐฯ

“ความสำเร็จของสลิงสโตนเป็นเครื่องยืนยันถึงความทุ่มเทของทีมกองกำลังร่วมของเรา ซึ่งปฏิบัติงานทุกวันเพื่อรักษาท่าทีการป้องกันที่แข็งแกร่งในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก” พล.ร.ต. เกร็ก ฮัฟฟ์แมน ผู้บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจร่วมไมโครนีเซีย กล่าว “การใช้ประโยชน์จากการทดสอบขีปนาวุธของสำนักงานป้องกันขีปนาวุธสหรัฐฯ เพื่อฝึกซ้อมวิธีการสู้รบถือเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เราจะนำบทเรียนที่ได้รับมาใช้ และเดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งให้กับสถาปัตยกรรมการป้องกันภัยคุกคามจากขีปนาวุธของศัตรูที่พัฒนาขึ้นให้กับกวม”

การฝึกซ้อมนี้ประกอบด้วยสภาพแวดล้อมการฝึกจริง การฝึกแบบเสมือนจริง และแบบสร้างสรรค์ที่จำลองการปฏิบัติการแบบหลายขอบเขต ทั้งในอากาศ บนบก และทางทะเล

เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี ยูเอสเอส มีเลียส ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งปฏิบัติการนอกกวม ได้ตรวจจับ ติดตาม และจำลองการโจมตีเป้าหมาย พร้อมให้การป้องกันทางอากาศ

กองกำลังเฉพาะกิจทาลอน ซึ่งเป็นหน่วยของระบบป้องกันขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง ประจำกวมของกองทัพบกสหรัฐฯ ก็ได้รับข้อมูลการติดตามขีปนาวุธด้วย แท่นยิงขีปนาวุธระบบป้องกันขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูงช่วยให้การป้องกันขีปนาวุธทิ้งตัว

เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี เจเอส ฮางูโระ ของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น ให้การสนับสนุนการป้องกันทางอากาศ ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงานร่วมกันและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกองกำลัง

สลิงสโตนยังเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของมาตุภูมิ และเจ้าหน้าที่ป้องกันพลเรือนพัฒนาขั้นตอนการแจ้งเตือนและตอบสนองต่อวิกฤต เพื่อให้บริการแก่ชุมชนได้ดียิ่งขึ้น

การทดสอบขีปนาวุธครั้งนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับโครงการขนาดใหญ่ ในการพัฒนา ติดตั้ง และใช้งานระบบป้องกันกวม ซึ่งเป็นการรวมกันของกองทัพอากาศ กองทัพบก สำนักงานป้องกันขีปนาวุธสหรัฐฯ และกองทัพเรือ เพื่อสร้างระบบป้องกันภัยทางอากาศและขีปนาวุธแบบบูรณาการสำหรับกวม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button